ยาแก้อักเสบ มีกี่ประเภท เลือกใช้อย่างไรให้ถูกอาการ

ไมเกรน
ยาแก้อักเสบ Anti-inflammatory Drugs ประเภทและการเลือกใช้ยาให้ถูกอาการ

ยาแก้อักเสบ เป็นยาในกลุ่มช่วยลดอาการอักเสบ บรรเทาอาการปวด และบวม โดยมีทั้งยาแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ และ กลุ่มที่ไม่มีสเตียรอยด์ ซึ่งยาแก้อักเสบนั้นมีหลายชนิดทั้งที่หาซื้อเองได้ตามร้านขายยาและชนิดที่ต้องได้รับใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น หากใช้ยาผิดประเภท รับประทานยาเกินขนาดหรือผิดวัตถุประสงค์อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ ผู้ที่ใช้ยาแก้อักเสบจึงควรทำความเข้าใจ เพื่อให้สามารถใช้ยาได้อย่างเหมาะสมและถูกวิธี

หัวข้อที่น่าสนใจ

    ทำความเข้าใจ ยาแก้อักเสบ

    ยาแก้อักเสบ (Anti-inflammatory Drugs) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ในการลดอาการอักเสบ ลดไข้ บรรเทาอาการปวด เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อ หรือเอ็นอักเสบ เคล็ดขัดยอก กล้ามเนื้ออักเสบ ปวดประจำเดือน ปวดบวมหลังการถอนฟัน ฯลฯ  แต่ยาแก้อักเสบจะไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส จึงใช้ในการบรรเทาอาการปวดและอักเสบในกรณีที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ โดยประเภทของยาแก้อักเสบนั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ยาแก้อักเสบกลุ่มที่มีสเตียรอยด์ และ ยาแก้อักเสบกลุ่มที่ไม่มีสเตียรอยด์ หรือ ที่เรียกกันว่า NSAIDs

    ประเภทของยาแก้อักเสบ

    1. ยาแก้อักเสบชนิดมีสเตียรอยด์ (Steroid/SAIDs) 

    ยาสเตียรอยด์ (Steroidal Anti-inflammatory Drugs : SAIDs) เป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ เช่น อาการปวด บวม แดง หรือแสบร้อนของเนื้อเยื่อในร่างกาย รวมถึงมีฤทธิ์ในการกดภูมิคุ้มกันและลดไข้ จึงมักใช้รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อบางชนิดหรือโรคทางเดินหายใจที่มีการอักเสบของหลอดลม โดยแบ่งตามลักษณะการใช้งานได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

    • ยาสเตียรอยด์ที่ใช้ภายนอก (External Use) เพื่อรักษาเฉพาะที่ เช่น 
      – ยาหยอดตา สำหรับรักษาตาอักเสบหรือเยื่อบุตาขาวอักเสบ
      – ยาพ่นจมูก ควบคุมอาการภูมิแพ้และโพรงจมูกอักเสบ
      – ยาพ่นคอ หรือ ยาสูดพ่นทางปากสำหรับควบคุมอาการทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง
      – ยาทาทางผิวหนังอักเสบ สำหรับใช้กดภูมิคุ้มกัน หรืออาการผิวหนังอักเสบ มีผื่นแพ้
    • ยาสเตียรอยด์ชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (Systemic Use) เพื่อรักษาอาการอักเสบทั่วร่างกาย ซึ่งมีทั้งแบบยาฉีด และยาเม็ดรับประทาน เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) ใช้รักษาอาการอักเสบในหลายระบบของร่างกาย เช่น โรคปอด โรคผิวหนัง หรือ คอร์ติโซน (Cortisone) ใช้สำหรับลดการอักเสบที่เกิดจากโรคแพ้ภูมิตัวเอง เป็นต้น
      โดย ยาสเตียรอยด์มักใช้ลดการอักเสบภายใน หรือ เพื่อกดภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเป็น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคภูมิแพ้ตนเอง (SLE) โรคระบบทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรัง อาการภูมิแพ้ทางผิวหนังรุนแรง เป็นต้น

    อย่างไรก็ตาม ยาแก้อักเสบชนิดมีสเตียรอยด์นั้นอาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย หากใช้นานเกินจำเป็น ใช้พร่ำเพรื่อหรือใช้ยาในขนาดสูงเกินไป จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ให้การรักษา หรือ ปรึกษาเภสัชกรทุกครั้งหากมีความจำเป็นต้องซื้อยาสเตียรอยด์สำหรับใช้ทาภายนอกใช้เอง

    2. ยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs)

    ยากลุ่ม NSAIDs (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) คือ ยาแก้อักเสบ บรรเทาปวดระยะสั้นจากภาวะต่างๆ เช่น อาการปวดจากไข้ ไมเกรน ปวดกล้ามเนื้อระดับปานกลางถึงรุนแรง ปวดข้อ ปวดประจำเดือน โดยครอบคลุมไปถึงอาการปวด อักเสบ บวมแดง หรือขยับร่างกายลำบากจากภาวะอักเสบและแผลฟกช้ำ ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์ของยาค่อนข้างเร็วและมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแก้อักเสบชนิดมีสเตียรอยด์ ตัวอย่าง ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs ที่พบบ่อยและหาซื้อเองได้ที่ร้านขายยา เช่น 

    • ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาแก้อักเสบ บรรเทาปวด ลดไข้ ออกฤทธิ์ลดปริมาณสารอักเสบในร่างกายที่ก่อให้เกิดการอักเสบและอาการปวด
    • ยานาพรอกเซน (Naproxen) ยาแก้อักเสบ ลดบวม บรรเทาปวด เช่น ข้ออักเสบ เอ็นอักเสบ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ ปวดกล้ามเนื้อ โดยออกฤทธิ์ในการลดสารอักเสบที่เป็นสาเหตุของการอักเสบและอาการเจ็บปวดในร่างกาย
    • ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ยาต้านการอักเสบ ลดปวด และ บวม ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ที่ก่อให้เกิดอาการบวมและอักเสบ เช่น โรคข้อเสื่อม ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ปวดท้องประจำเดือน หรืออาการปวดทั่วไป

    นอกจากนี้ ยังมียาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs อีกหลายชนิด แต่จำเป็นต้องได้รับใบสั่งยาและการแนะนำจากแพทย์ เช่น 

    • ยาแอสไพริน (Aspirin)
    • ยาเมเฟนามิค แอซิด (Mefenamic Acid)
    • ยาเซเลโคซิบ (Celecoxib)
    • ยาไพร็อกซิแคม (Piroxicam)
    • ยามีลอกซิแคม (Meloxicam)
    • ยาอินโดเมทาซิน (Indomethacin)

    โดยยาแต่ละชนิดมีกลไกการออกฤทธิ์และข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกันออกไป ก่อนการใช้หรือหยุดใช้ยาจึงควรปรึกษาแพทย์ หรือสอบถามเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยและการแพ้ยา 

    ยาแก้อักเสบ กับ ยาฆ่าเชื้อ ต่างกันอย่างไร

    หลายคนมักเกิดความเข้าใจผิดว่ายาฆ่าเชื้อ คือ ยาแก้อักเสบ ตัวอย่างยาที่มักถูกเข้าใจผิดบ่อย เช่น ยาอะม็อกซีซิลิน (Amoxicillin) หรือที่เรียกกันว่า ยาแคปซูลเขียว-ฟ้า หรือ ยาแอมพิซิลิน (Ampicillin) ที่รู้จักกันว่า ยาแคปซูลดำ-แดง ซึ่งอันที่จริงแล้วยาเหล่านี้เป็น ยาฆ่าเชื้อ หรือ ยาปฏิชีวนะ ที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ยาฆ่าเชื้อเหล่านี้จึงถูกใช้เมื่อมีอาการเจ็บคอ กลืนน้ำลายแล้วเจ็บ มีไข้ หรือมีจุดหนองในคอ คอบวมโตหรือกดเจ็บ หลายคนจึงเข้าใจว่ายาฆ่าเชื้อเป็นยาแก้อักเสบ เจ็บคอ นั่นเอง จึงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาเพื่อการรักษาอย่างตรงจุดและปลอดภัย

    ตารางแสดงความแตกต่างระหว่าง ยาแก้อักเสบแลยาฆ่าเชื้อ

    ยาแก้อักเสบ ใช้ได้ดีกับคนกลุ่มไหนบ้าง

    ยาแก้อักเสบเป็นยาที่สามารถใช้ได้กับคนหลายกลุ่ม โดยขึ้นอยู่กับชนิดของยาและภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคล โดยมักใช้กับกลุ่มอาการเหล่านี้

    • ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบเฉียบพลัน หรือ เรื้อรัง เช่น ผู้ที่มีการอักเสบของกล้ามเนื้อ ข้อ หรือเส้นเอ็น รวมถึงผู้ที่เป็นโรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) หรือ โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)
    • ผู้ที่มีอาการปวดจากการบาดเจ็บจากสาเหตุต่างๆ เช่น การเล่นกีฬา ข้อแพลง หรือช้ำในกล้ามเนื้อ หรือ กระดูก
    • ผู้ที่มีอาการปวดฟัน ผู้ที่มีอาการปวดฟันหรือการอักเสบของเหงือกและฟัน เช่น ภายหลังการถอนฟัน
    • ผู้ที่มีไข้จากการติดเชื้อหรือสภาวะอื่นๆ หรือปวดท้องประจำเดือนรุนแรงโดยอาจใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น Ibuprofen เพื่อลดไข้บรรเทาได้ อ่านต่อ ยาแก้ปวด ประเภทและวิธีเลือกใช้ให้เหมาะกับอาการ

    อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถใช้ยาแก้อักเสบได้ เช่น ผู้ที่มีโรคกระเพาะอาหาร โรคหัวใจ หรือ โรคไตเรื้อรัง ผู้ที่วางแผนจะมีบุตร สตรีมีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา 

    ยาแก้อักเสบ วิธีกิน ข้อควรระวังและคำแนะนำการใช้ยา

    คำแนะนำการใช้ ยาแก้อักเสบ

    ยาแก้อักเสบควรใช้ให้ตรงตามจุดประสงค์ เนื่องจากยาแต่ละชนิดอาจมีคุณสมบัติที่คล้ายกัน จึงต้องจำเป็นต้องรู้ถึงวัตถุประสงค์ในการใช้ยาเป็นหลัก รวมถึงข้อควรปฏิบัติระหว่างใช้ยา ดังนี้

    • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ หรือมีโรคประจำตัว รวมถึงสตรีมีครรภ์ และเด็ก ก่อนรับประทานยาแก้อักเสบควรปรึกษาเภสัชกรและแพทย์อย่างละเอียด เพื่อเป็นการป้องกันผลข้างเคียงในระหว่างการใช้ยา
    • รับประทานยาแก้อักเสบในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำของเภสัชกรและแพทย์ หากใช้ยาแก้อักเสบในปริมาณที่มากและเป็นระยะเวลานาน อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงตามมาได้
    • หากซื้อยารับประทานเองควรอ่านฉลากยาแก้อักเสบอย่างละเอียด เพราะยาแก้อักเสบบางชนิดมีส่วนผสมของตัวยาหลายประเภทที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ รวมถึงดูวันหมดอายุและวิธีเก็บรักษายาอย่างถูกวิธี
    • หากรับประทานยาแก้อักเสบแล้วควรสังเกตและติดตามอาการหลังรับประทานยา หากพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที 

    ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้อักเสบ

    ยาแก้อักเสบสามารถลดอาการเจ็บปวด อาการไข้ และภาวะอักเสบลงได้ แต่ในบางกรณี อาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้ เช่น 

    • อาการระคายเคืองในลำไส้หรือกระเพาะ จึงควรรับประทานยาแก้อักเสบหลังมื้ออาหารทันที
    • อาหารไม่ย่อย โดยอาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ หรือ ท้องเสียได้
    • มีอาการหายใจลำบาก หายใจติดขัด 
    • วิงเวียนศรีษะ เหนื่อยล้า ง่วงนอน

    หากพบอาการหายใจลำบาก อาเจียนเป็นเลือด มีอุจจาระสีดำ แน่นหน้าอก กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือพูดไม่ชัด ควรรีบหยุดยาและไปพบแพทย์ทันที

    วิธีรับประทานยาแก้อักเสบ

    ยาแก้อักเสบควรรับประทานหลังมื้ออาหาร เพื่อป้องกันการระคายเคืองกระเพาะอาหาร สำหรับผู้ที่มีไข้ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 3 วัน และ ไม่ควรใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดนานเกิน 10 วัน เพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ดังนั้นจึงควรรับประทานตามขนาดที่แพทย์และเภสัชกรแนะนำ

    การใช้ยาแก้อักเสบ นอกจากจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรแล้ว หากซื้อยาใช้เองทั่วไปควรเลือกใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ ไม่ใช้ยาพร่ำเพื่อ เพื่อป้องกันการดื้อยาและช่วยให้การบรรเทาอาการปวด อักเสบ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

    อ้างอิง
    1. https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/nsaids-are-not-antibiotics
    2. https://hdmall.co.th/blog/c/how-to-take-antibiotics-the-right-way/
    3. https://www.mkmedical.in.th/blog/blog1679522.html
    4. https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/หยุดเรียกยาปฏิชีวนะว่า/
    5. http://www.medi.co.th/news_detail101.php?q_id=122
    6. https://www.cochrane.org/th/CD010120/MUSKEL_yaataankaarakesbthiiaimaichsetiiyryd-nsaids-samhraborkhekaatechiiybphlan
    7. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/126/ยาแก้อักเสบ/
    อัลบั้มภาพ

    ข่าวสุขภาพอื่นๆ

    ภาวะนอนไม่หลับ

    วาเลอเรียน สมุนไพรที่ช่วยให้นอนหลับอย่างมีคุณภาพ

    ภาวะนอนไม่หลับ

    อยากนอน แต่นอนไม่หลับ

    ภาวะนอนไม่หลับ

    การนอนไม่หลับ ปัญหาสุขภาพวัยสูงอายุ