หากพูดถึงอาการ นอนไม่หลับ นอนหลับยาก นอนหลับไม่สนิท สมองคิดตลอด กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกเพศ ทุกวัย ถึงแม้อาการนอนไม่หลับอาจไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็ส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการคิด ความจำ การเรียนรู้ สมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ ลดน้อยลง อีกทั้งยังส่งผลให้ความแข็งแรงสุขภาพลดลง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เฉื่อยชา หงุดหงิดง่าย กระสับกระส่าย เป็นต้น
นอนไม่หลับ แบ่งออก 3 ประเภท
• ประเภทที่ 1 หลับยาก : หลับยาก ต้องใช้ระยะเวลาเป็นชั่วโมง
• ประเภทที่ 2 หลับไม่ทน : หลับแล้วมักตื่นขึ้นมากลางดึก บางคนตื่นแล้วกลับไปหลับไม่ได้
• ประเภทที่ 3 หลับ ๆ ตื่น ๆ : จะมีอาการลักษณะ รู้สึกคล้ายไม่ได้หลับเลยทั้งคืน

สาเหตุของอาการนอนไม่หลับ สมองไม่หยุดคิด
ปัจจัยทางกาย
- อาการและโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น อาการปวดต่าง ๆ โรคหัวใจ โรคหอบ โรคกรดไหลย้อน โรคภูมิแพ้ โรคพาร์กินสัน เส้นเลือดอุดตันในสมอง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ โรคต่อมลูกหมากโต อาการและโรคเหล่านี้ส่งผลทำให้นอนยากหรือต้องตื่นบ่อย
- ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด
- การดื่มหรือรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์ เป็นประจำ
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ โดยเฉพาะหญิงและชายวัยทอง
ปัจจัยทางจิตใจ
- ภาวะความเครียด อาการวิตกกังวล แรงกดดัน อาการเหล่านี้มักส่งผลให้เกิดอาการนอนไม่หลับ
- โรคทางจิตที่มีผลต่อความรู้สึก เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรควิตกกังวล หรือการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
ทำแบบประเมินความเครียดด้วยตนเอง คลิกที่นี่
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
- ห้องนอนที่มีความสว่างจนเกินไป มีเสียงรบกวน หรือพื้นที่นอนแคบเกินไปหรือกว้างเกินไป หรือการนอนต่างที่ ทำให้ความรู้สึกของการนอนไม่คุ้นชิน
- การทำงานที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเวลานอน เช่น พยาบาล แพทย์ หรือยาม
นอนไม่หลับ สมองไม่หยุดคิด แก้ไขอย่างไร
- เข้านอนให้เป็นเวลา ช่วงเวลาที่ดีเหมาะสมคือนอนก่อน 4 ทุ่มและตื่น 6 โมงเช้า เพราะเป็นช่วงเวลานอนที่เหมาะสมที่สุด ร่างกายจะพักผ่อนให้เต็มที่จากการหลับลึก
- สภาพแวดล้อมของห้องนอนต้องเหมาะสม ภายในห้องหรี่ไฟให้สลัวๆ ประมาน 1 ชั่วโมง เพื่อเตรียมสมองว่าต้องพักผ่อน และปรับอุณหภูมิในห้องให้พอดี ไม่หนาว ไม่ร้อน จนเกินไป
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และน้ำอัดลม รวมทั้งเครื่องดื่มชูกำลัง
- หากิจรรมที่ช่วยผ่อนคลายร่างกาย เช่น การอาบน้ำอุ่น ฟังเพลงจังหวะสบายๆ หรือทำสมาธิ สวดมนต์ เพื่อให้จิตใจสงบ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยทำให้คุณนอนหลับง่ายขึ้น และแก้ปัญหาเรื่องอาการนอนไม่หลับ (เลี่ยงการออกกำลังกายช่วงใกล้เวลานอนหลับ
- ยาช่วยนอนหลับ ที่นิยมใช้กันและจำหน่ายตามร้านขายยานั้น มักเป็นกลุ่มยาแก้แพ้ (รุ่นเดิม) ที่อาศัยผลข้างเคียงของยาแก้แพ้ เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine), ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ซึ่งยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ทำให้นอนหลับ จึงมีการนำมาใช้แทนยานอนหลับ แต่การใช้ยากลุ่มนี้ ควรใช้ช่วงเวลาสั้นๆ เป็นครั้งคราว ไม่ใช้ต่อเนื่อง การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร แต่หากกินแล้วไม่ได้ผลก็ควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุและให้การรักษาที่ถูกต้องจะดีกว่า