‘ตะคริว’ สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

ไมเกรน
ตะคริว ที่น่อง


อาการ ‘ตะคริว’ สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและยังสร้างความเจ็บปวดทรมานเป็นอย่างมาก หากเกิดขึ้นขณะออกกำลังกายหรือขับรถอาจนำไปสู่อันตรายหรืออุบัติเหตุร้ายแรงถึงชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรใส่ใจและรู้วิธีการป้องกันอย่างถูกต้องเมื่อเกิดตะคริว

ตะคริว คืออะไร?

ตะคริว (Muscle Cramp) เป็นภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งรุนแรงอย่างฉับพลัน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับกล้ามเนื้อส่วนใดก็ได้และไม่สามารถบังคับได้ โดยมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและทรมาน แต่โดยทั่วไปตะคริวจะสามารถหายเองได้ภายใน 2-15 นาที ส่วนใหญ่จะเกิดที่บริเวณน่อง ขาและเท้า

ตะคริว เกิดจากสาเหตุใดบ้าง?

1. มีการหดตึงของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ทำให้กล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่น
2. การใช้กล้ามเนื้อบางส่วนที่หนักมากเกินไปจากทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง
3. ออกกำลังกายอย่างหนักโดยที่ไม่ได้วอร์มอัพร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อขาดเลือดจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่พอ
4. การนอน นั่ง หรือยืน ในท่าที่ไม่สะดวกนานๆ ก็ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวกและอาจเป็นตะคริวได้
5. ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งหรือหลอดเลือดตีบตัน ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี เช่น ผู้สูงอายุอาจเป็นตะคริวขณะที่เดินนาน ๆ
6. ดื่มน้ำน้อยเกินไป ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ
7. ภาวะเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล เช่น เกิดขึ้นจากอาการท้องเดิน อาเจียน เสียเหงื่อมาก เป็นต้น

ใครบ้างที่มักเป็นตะคริวบ่อย?

  1. นักกีฬา
    อาการตะคริวของนักกีฬาเกิดจากเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้ยืดตัว จึงทำให้มีการหดรั้งหรือเกร็งได้ง่าย แม้ตะคริวจะไม่ได้เป็นโรคภัยที่ร้ายแรงมาก แต่สร้างความเจ็บปวดทรมานไม่น้อย หากเกิดขึ้นมาอย่างกะทันหัน ทำให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดได้ การสะดุดล้มหรือหกล้ม อาจนำไปสู่การบาดเจ็บที่ร้ายแรงได้ โดยชนิดกีฬาที่มักเป็นตะคริว ได้แก่ ปั่นจักรยาน วิ่ง ว่ายน้ำ ไตรกีฬา ฟุตบอล เป็นต้น
  2. ผู้สูงอายุ
    ในผู้สูงอายุอาจมีภาวะร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ไม่สมดุล โดยเฉพาะแร่ธาตุอย่าง แมกนีเซียม แคลเซียม และโพแทสเซียม ซึ่งทำให้เกิดตะคริวได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้อาจเป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ผู้สูงอายุรับประทานอยู่ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดไขมันในเลือด และยาลดความดันโลหิตก็สามารถทำให้เกิดตะคริวขึ้นได้
  3. คนวัยทำงานทั่วไป
    การทำงานมากๆ จนเกิดอาการเมื่อยล้าหรือการขดตัวแขนขาอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานๆ ทำให้กล้ามเนื้อไม่ได้ยืดตัวจึงเกร็งได้ง่าย ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดตะคริวได้เช่นกัน เนื่องจากเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงแขนขาได้สะดวก
  4. ผู้หญิงตั้งครรภ์
    ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะมีระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ เนื่องจากทารกต้องนำไปใช้สร้างกระดูกและฟัน หรืออาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่สะดวก ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณน่องขาดออกซิเจน จึงทำให้สามารถเป็นตะคริวได้บ่อยขึ้น

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเป็นตะคริว

  1. เมื่อเกิดตะคริวขึ้นให้หยุดใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นทันที จากนั้นค่อยๆ ยืดกล้ามเนื้อหรือนวดบริเวณที่เป็นตะคริวช้าๆ ประมาณ 1-2 นาที เพราะการยืดกล้ามเนื้อจะไปกระตุ้นให้เกิดการยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้อาการตะคริวบรรเทาลด หากอาการยังไม่หายดีให้ค่อยๆ นวดไปเรื่อยๆ
  2. หากเกิดขึ้นระหว่างนอนหลับให้เปลี่ยนท่านอน และยืดขาตรง กระดกปลายเท้าประมาณ 5 วินาที ทำวน 5-10 รอบ ก่อนจะนวดบริเวณดังกล่าวจนกว่าจะหาย
  3. เมื่อเกิดตะคริวในขณะที่ว่ายน้ำ ควรต้องตั้งสติและพยายามทำให้ตัวของเราลอยน้ำอยู่ตลอดเวลา หากเกิดตะคริวที่น่องด้านหลัง ให้หงายตัวขึ้น ใช้มือพยุงน้ำให้ลอย และยกขาขึ้นเหนือน้ำเข้าหาใบหน้า แต่ถ้าหากเกิดตะคริวหลังขาอ่อน พยายามอยู่ในท่านอนคว่ำ และพับข้อเท้าเข้าหาด้านหลัง และหากเกิดตะคริวที่ข้อเท้า นอนหงายและให้เท้าอยู่บนผิวน้ำ แล้วนวดหรือหมุนเบาๆ ที่ข้อเท้า
  4. หากยังมีอาการปวด หลังจากหายเป็นตะคริวแล้ว สามารถรับประทานยาแก้ปวดและนวดยาได้เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อได้
  5. สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์เพื่อตรวจครรภ์ตามกำหนด หากเกิดอาการตะคริวให้บอกแพทย์เพื่อที่แพทย์จะได้วินิจฉัยหาสาเหตุ และทำการรักษาต่อไปเนื่องจากอาการตะคริวอาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

วิธีการป้องกันการเกิดตะคริว

  • ควรอบอุ่นร่างกายยืดเส้นยืดสายกล้ามเนื้อก่อนเริ่มและหลังออกกำลังกายเป็นประจำ ประมาณ 15-20 นาที จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว หรือ 2 ลิตร เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดน้ำของร่างกาย โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย
  • รับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียม และ โพแทสเซียม เป็นประจำ เช่น ปลา นม อะโวคาโด ผักโขม ลูกเกด กล้วยหอม ธัญพืช และถั่วต่างๆ
  • ผู้ที่มักเป็นตะคริวระหว่างนอนตอนกลางคืน ให้นอนยกขาให้สูงโดยใช้หมอนรองขาให้ขาสูงขึ้นจากเตียงประมาณ 10 เซนติเมตร
  • การฝึกการยืดกล้ามเนื้อบ่อยๆ ช่วยลดโอกาสการเกิดตะคริวได้ พยายามกระดกข้อเท้าขึ้นลงบ่อยๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนดี และป้องกันกล้ามเนื้อน่องหดตัว
  • ระมัดระวังการยกของหนักหรือการทำกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อหนักอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้สูงอายุควรขยับแขนขาอย่างช้าๆ และหลีกเลี่ยงอยู่ในที่มีอากาศเย็นจัด
  • งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 7-9 ชั่วโมง

‘แมกนีเซียม’ แร่ธาตุที่ช่วยป้องกันการเกิดตะคริว

แมกนีเซียม (Magnesium) หนึ่งในแร่ธาตุที่จำเป็นต่อมนุษย์ และมีคุณประโยชน์มากมายกับร่างกายโดยแมกนีเซียมสามารถพบได้ในทุกเซลล์ของร่างกาย โดยเฉพาะกระดูก เซลล์กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย ดังนั้นแมกนีเซียมจึงถือได้ว่าเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายขาดไม่ได้

โดยแมกนีเซียมมีประโยชน์และทำหน้าที่สำคัญยิ่งต่อการทำงานของเอ็นไซม์ในกระบวนการเผาผลาญทุกอย่าง ซึ่งรวมถึงการสร้างสาร DNA RNA โปรตีน การสร้างและเก็บพลังงานในเซลล์ กระบวนการย่อยสลายกลูโคส และยังมีบทบาทในการรักษาระดับของสารอิเล็กโตรไลท์ภายในเซลล์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้ออีกด้วย

เมื่อร่างกายขาดแมกนีเซียมจึงส่งผลเสียต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งบ่อย เพิ่มโอกาสการเกิดตะคริวให้มากขึ้น ดังนั้นการรับประทานแมกนีเซียมเป็นประจำจึงช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและหลอดเลือด ทำให้ช่วยลดโอกาสการเกิดตะคริวได้ อ่านต่อ : แมกนีเซียม (Magnesium) แร่ธาตุสำคัญที่จำเป็นสำหรับร่างกาย 

ตะคริวสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม หากรู้วิธีรับมืออย่างถูกต้องก็สามารถบรรเทาอาการได้ดีขึ้นและช่วยป้องกันอุบัติเหตุรุนแรงที่อาจมาจากการเป็นตะคริวได้อีกด้วย ดังนั้นควรฝึกยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อุดมด้วยแร่ธาตุแมกนีเซียม หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ…ด้วยความห่วงใยจาก MEGA We care

อัลบั้มภาพ

ข่าวสุขภาพอื่นๆ

ภาวะนอนไม่หลับ

วาเลอเรียน สมุนไพรที่ช่วยให้นอนหลับอย่างมีคุณภาพ

ภาวะนอนไม่หลับ

อยากนอน แต่นอนไม่หลับ

ภาวะนอนไม่หลับ

การนอนไม่หลับ ปัญหาสุขภาพวัยสูงอายุ