ปัญหาการขับถ่าย อย่าง อุจจาระแข็ง ถ่ายไม่ออก ต้องออกแรงเบ่งมากกว่าปกติ เรียกได้ว่าเป็น อาการที่น่าอึดอัดและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของใครหลายคนอย่างมาก เพราะอาการเหล่านี้ เป็นสัญญาณร้ายที่บ่งบอกว่า มีภาวะ ท้องผูกเรื้อรัง โดยสาเหตุนั้น อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย
อุจจาระแข็ง เบ่งไม่ออก สาเหตุเกิดจากอะไร? การขับถ่ายปกติที่ดี ควรมีลักษณะของอุจจาระไม่แข็ง แห้ง หรือเหลวเกินไป แต่สำหรับใครหลายคน ที่มักมีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายในชีวิตประจำวัน อย่างอุจจาระแข็ง แห้ง เบ่งไม่ออก หรือ ต้องออกแรงเบ่งมากกว่าปกติ อาจเกิดได้จากสาเหตุเหล่านี้
การดื่มน้ำไม่เพียงพอ เนื่องจากน้ำมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้อุจจาระนุ่ม และเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ดี แต่หากดื่มน้ำไม่เพียงพอ จะทำให้ลำไส้ใหญ่ดูดซึมน้ำจากกากอาหารมากเกินไปและส่งผลให้อุจจาระแข็ง แห้ง และขับถ่ายยาก
การรับประทานอาหารที่มีใยอาหารไม่เพียงพอ หรือ การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยต่ำมากเกินไป เช่น อาหารแปรรูป อาหารฟาสต์ฟู้ด จะทำให้แน่นท้อง อุจจาระแข็ง และขับถ่ายลำบาก ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ผู้ใหญ่ควรได้รับใยอาหารประมาณ 25-30 กรัมต่อวัน แต่คนไทยส่วนใหญ่ได้รับใยอาหารต่อวัน เพียง 10-15 กรัมเท่านั้น
การขาดการออกกำลังกาย โดยเฉพาะคนที่นั่งนานๆ หรือ ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันมากเท่าที่ควร อาจทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ช้าลงและส่งผลให้อุจจาระค้างอยู่ในลำไส้นานเกินไปและกลายเป็นอุจจาระแข็ง
ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาลดกรดอะลูมินัม ยาลดความดันโลหิต ยาต้านฮีสตามีน รวมถึงกลุ่มยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็กสูง ฯลฯ อาจทำให้การเคลื่อนที่ของอุจจาระในลำไส้ช้าลง จึงส่งผลให้กากอาหารบีบอัดในลำไส้ ทำให้อุจจาระแข็งและท้องผูกได้ในที่สุด นอกจากนี้ ภาวะเครียด วิตกกังวล การใช้ยาระบายต่อเนื่องเป็นเวลานาน รวมถึงโรคประจำตัวและอายุที่เพิ่มมากขึ้น ยังส่งผลให้มีอาการท้องผูกเพิ่มขึ้นอีกด้วย
สัญญาณของอาการ ท้องผูกเรื้อรัง ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว อาการท้องผูกจะเป็นๆ หายๆ หรือ มีอาการท้องเสียสลับกันบางครั้ง แต่ภาวะท้องผูกเรื้อรัง จะมีอาการบ่งชี้ดังต่อไปนี้
ขับถ่ายไม่ออกต่อเนื่องกัน 3 วันขึ้นไป หรือ ขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
ขับถ่ายยาก ต้องออกแรงเบ่งมากกว่าปกติ หรือ มีอาการเจ็บขณะขับถ่ายร่วมด้วย
ลักษณะของอุจจาระเป็นก้อนแข็ง และแห้ง
มักรู้สึกว่าขับถ่ายไม่สุด
รู้สึกว่าถ่ายไม่ออก เหมือนมีสิ่งอุดกั้นอยู่ข้างใน หากมีอาการเหล่านี้ติดต่อกันนาน 3 เดือนขึ้นไป อาจเรียกได้ว่า มีอาการ ท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งส่วนมากจะพบบ่อยในผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการเคี้ยว กลืน และระบบย่อยอาหาร รวมถึงผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยโรคไต ที่ต้องควบคุมการรับประทานอาหาร ตลอดจนผู้ที่รับประทานยาบางชนิดเป็นประจำ และผู้ที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่สมดุล จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม
วิธีแก้ปัญหา อุจจาระแข็ง ขับถ่ายไม่ออก ต้องทำอย่างไร? วิธีบรรเทาอาการท้องผูก อุจจาระแข็งและขับถ่ายยาก สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการดูแลตนเองที่บ้านด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพลำไส้ รวมถึงการดูแลรักษาด้วยยาจากคำแนะนำของแพทย์
รับประทานอาหารที่ดีต่อลำไส้ เพิ่มการดื่มน้ำ การดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน (ประมาณ 2-2.5 ลิตร) ช่วยให้อุจจาระนุ่มขึ้น จากการศึกษา Journal of Clinical Gastroenterology พบว่า การเพิ่มปริมาณน้ำในผู้ที่ดื่มน้ำน้อยกว่า 1.5 ลิตรต่อวัน สามารถช่วยลดอาการท้องผูกได้อย่างมีนัยสำคัญ
เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง โดยการเพิ่มการได้รับใยอาหารเป็น 25-30 กรัมต่อวัน จะลดอาการท้องผูกได้ถึง 60% ในผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานผลไม้ ผักใบเขียว ถั่ว และธัญพืชต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถได้รับจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ เช่น อินูลิน (Inulin) พรีไบโอติกที่ช่วยเพิ่มมวลอุจจาระให้มากขึ้น และ ยังช่วยกระตุ้นการขับถ่ายให้ถี่ขึ้น เป็นต้น
รับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติก สำหรับคนที่มีปัญหาท้องผูก อุจจาระแข็ง เบ่งไม่ออก ขับถ่ายลำบาก ควรเพิ่มการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโพรไบโอติก (Probiotic) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ มีประโยชน์ในการป้องกันอาการท้องร่วง รวมถึงช่วยป้องกันและลดภาวะท้องผูกเรื้อรังได้ โดยโพรไบโอติก 2 สายพันธุ์เฉพาะที่มีงานวิจัยรองรับ อย่าง Lactobacillus acidophilus LA-5 และ Bifidobacterium lactis BB-12 มีส่วนช่วยให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ดีขึ้น และปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหาร จึงช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้นและแก้ปัญหาท้องผูกได้อ่านต่อ : ประโยชน์ของ โพรไบโอติก (Probiotic) ต่อระบบทางเดินอาหาร การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะท้องผูกเรื้อรัง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการออกกำลังกาย จะช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ โดยแนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิค 30 นาที ต่อวัน อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ กิจกรรมที่แนะนำ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน หรือ โยคะ โดยเฉพาะท่าที่ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร จะช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันอาการแน่นท้องจากอาหารไม่ย่อยอีกด้วย
ฝึกนิสัยการขับถ่ายที่ดี แนะนำให้พยายามขับถ่ายในเวลาเดียวกันทุกวัน เช่น หลังอาหารเช้า เพื่อสร้างความสม่ำเสมอ ไม่อั้นอุจจาระเมื่อรู้สึกปวด ไม่เร่งรีบ หรือ เบ่งแรงเกินไป นอกจากนี้การนั่งในท่าที่ถูกต้อง (Squatting position) จะช่วยลดแรงเบ่งและเวลาในการขับถ่ายได้ โดยอาจใช้ม้านั่งเล็กๆ รองเท้า เพื่อให้หัวเข่าอยู่สูงกว่าสะโพกเล็กน้อยจะช่วยให้กล้ามเนื้อหูรูดคลายตัวได้ดีขึ้น
จัดการความเครียด เนื่องจากความเครียดและความวิตกกังวล สามารถส่งผลกระทบต่อการหลั่งฮอร์โมนของต่อมหมวกไต ทำให้การบีบตัวของลำไส้ทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร หากมีความเครียดสะสมเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ จึงควรผ่อนคลายความเครียดทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้สุขภาพและระบบขับถ่ายโดยรวมกลับมาทำงานได้อย่างเป็นปกติอ่านต่อ : ไม่ถ่ายหลายวัน สาเหตุเกิดจากอะไร พร้อมวิธีแก้ปัญหาขับถ่ายไม่ออก การรักษาท้องผูกเรื้อรังด้วยยา ในบางกรณีที่ท้องผูกเรื้อรังและมีข้อจำกัดในการรับประทานอาหาร หรือ มีโรคประจำตัว แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาระบายท้องผูก เพื่อช่วยในการขับถ่าย เช่น
ยาระบายท้องผูกชนิดเพิ่มกากใย (Bulk-forming laxatives) เพิ่มปริมาณกากอาหารในลำไส้ ทำให้อุจจาระมีปริมาณมากขึ้นและนิ่มขึ้น
ยาระบายท้องผูกออสโมติก (Osmotic laxatives) ช่วยดึงน้ำเข้าสู่ลำไส้ ทำให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายง่ายขึ้น
ยาระบายกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ (Stimulant laxatives) ช่วยกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวมากขึ้น ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากอาจทำให้เกิดการดื้อยาและลำไส้ขี้เกียจได้ หากใช้เป็นเวลานาน
ยาระบายทำให้อุจจาระนิ่ม (Stool softeners) เช่น ด็อกคูเสต (Docusate) ช่วยให้อุจจาระอุ้มน้ำได้ดีขึ้น ทำให้อุจจาระนิ่มลง
ยาเหน็บท้องผูก หรือ ยาเหน็บทวาร (Suppositories) ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้บริเวณทวารหนัก ทำให้ถ่ายอุจจาระได้ง่ายขึ้น ใช้สำหรับกรณีท้องผูกรุนแรง หรือ มีอุจจาระอัดแน่น อย่างไรก็ตาม การใช้ยาระบาย ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีอาการท้องผูกเรื้อรัง หรือ มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ขับถ่ายไม่ออกและปวดท้องรุนแรงมีเลือดออกทางทวารหนัก หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น
ปัญหาอุจจาระแข็ง และ ถ่ายไม่ออก หากปล่อยไว้จนเรื้อรัง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ด้วยการเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีใยอาหาร ดื่มน้ำให้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกโดยเฉพาะที่มี 2 สายพันธุ์เฉพาะ Lactobacillus acidophilus LA-5 และ Bifidobacterium lactis BB-12 จะช่วยให้การขับถ่ายง่ายขึ้น สุขภาพลำไส้ดีขึ้น ช่วยสร้างสมดุลที่ดีในทางเดินอาหาร เป็นการรักษาที่ต้นเหตุ อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องพึ่งการใช้ยาช่วยในการขับถ่ายในระยะยาว แต่ถ้าหากมีภาวะท้องผูกเรื้อรัง และ มีอาการรุนแรง ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม