วุ้นในตาเสื่อม เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ใช่แค่ผู้สูงวัยหรือผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่มีความเสี่ยง เพราะพฤติกรรมการใช้สายตาที่อาจไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การใช้สายตาเพ่งหรือจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานโดยไม่พักสายตา การจ้องจอที่มีแสงจ้าในที่มืด พฤติกรรมที่ทำให้สายตาสั้นมากผิดปกติ เป็นต้น นอกจากนี้การใช้ชีวิตที่เร่งรีบยังหรือพฤติกรรมการกินที่ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นไม่เพียงพอ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะวุ้นในตาเสื่อมก่อนวัยได้
วุ้นในตาเสื่อม สาเหตุเกิดจากอะไร?
วุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) คือ โรคตาที่ทำให้เกิดเงาดำบดบังสายตาจากการที่หลอดเลือดบริเวณจอตาฉีกขาด เนื่องจากดวงตาของเราจะมีวุ้นตา (Vitreous) มีลักษณะเป็นเจลหนืด ใสยึดติดกับจอตา เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยกลางคนหรือเมื่อพฤติกรรมการใช้สายตาไม่ดีอาจทำให้วุ้นตาเริ่มเสื่อมสภาพลงและลอกออกจากผิวของจอตา ทำให้เห็นเป็นเงาดำเล็กๆ เป็นเส้น หรือเป็นวงลอยไปลอยมา เรียกว่า ภาวะ PVD (Posterior Vitreous Detachment) หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้วุ้นตาเสื่อมอาจเกิดจากปัจจัยดังนี้
- การจ้องจอนานเกินไป
แสงสีฟ้าจากหน้าจอ เป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อม นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยที่เร่งให้เกิดภาวะวุ้นในตาเสื่อมได้ เพราะการใช้สายตาเพ่งอยู่กับหน้าจออยู่ จะทำให้กล้ามเนื้อลูกตาทำงานหนัก ยิ่งจ้องหน้าจอบ่อยๆ หรือจ้องจอเป็นระยะเวลานานๆ ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวุ้นในตาเสื่อมก่อนวัยได้ - อายุที่เพิ่มมากขึ้น
อายุที่เพิ่มมากขึ้น คือหนึ่งในสาเหตุของการเกิดภาวะวุ้นในตาเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด โดยจากสถิติพบว่า คนไทยอายุ 40 ปีขึ้นไป กว่า 14 ล้านคน มีปัญหาวุ้นในตาเสื่อม เนื่องจากอายุที่มากขึ้นจะทำให้ทุกส่วนของร่างกายเสื่อมสภาพไปตามธรรมชาติรวมถึงดวงตาด้วย เมื่อวุ้นตาเกิดการเสื่อมสภาพจะกลายเป็นน้ำและส่งผลให้วุ้นตาจับตัวกันเป็นก้อน ทำให้ส่วนที่ใสๆ เกิดเป็นฝ้าหรือเป็นจุดดำ จนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการมองเห็นได้ - สายตาสั้นมาก
จากข้อมูลพบว่า ผู้ที่มีสายตาสั้นตั้งแต่ 400 ขึ้นไป ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวุ้นในตาเสื่อมก่อนวัยได้ โดยผู้มีสายตาสั้นจะเสี่ยงเกิดภาวะวุ้นในตาเสื่อมได้เร็วกว่าคนสายตาปกติราว 2 เท่าตัว เนื่องจากโครงสร้างดวงตาของคนสายตาสั้นนั้นอ่อนแอกว่าคนสายตาปกติ ทำให้บางรายจะเริ่มมีภาวะวุ้นในตาเสื่อมตั้งแต่อายุยังน้อย นอกจากนี้ปัจจัยการเสื่อมช้าหรือเร็วยังขึ้นอยู่กับค่าความสั้นของสายตาด้วย เช่น ผู้มีสายตาสั้น 600 มีความเสี่ยงเกิดภาวะวุ้นในตาเสื่อมเร็วกว่าผู้ที่มีสายตาสั้น 400 เป็นต้น - ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
วุ้นในตาเสื่อม เป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานนั้นมีค่าน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนทั่วไป ทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดบริเวณจอตาได้ง่ายกว่า จนร่างกายจึงต้องสร้างเส้นเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทนแต่เป็นเส้นเลือดที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เลือดหรือสารน้ำอื่นๆ อาจจะรั่วเข้าสู่จอตา ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ดวงตาเสื่อมสภาพเร็วขึ้นจนดวงตาเกิดความเสียหายหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เรียกว่า เบาหวานขึ้นตา
นอกจากนี้ ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดดวงตา ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะวุ้นในตาเสื่อม เช่น ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดดวงตาเนื่องจากอุบัติเหตุ การผ่าตัดต้อกระจกที่มีการเปลี่ยนเลนส์ตาเทียม อาจไปเพิ่มโอกาสให้วุ้นในตาหลุดลอกและส่งผลต่อการมองเห็นได้
อาการของภาวะ วุ้นในตาเสื่อม
ในระยะเริ่มต้น การเสื่อมสภาพของวุ้นในตาจะทำให้เกิดเป็นตะกอนและเห็นเป็นเงาในตา โดยเฉพาะเมื่อมองในพื้นกว้างหรือที่สว่าง เช่น ท้องฟ้า โต๊ะสีขาว กำแพงสีขาว เป็นต้น ส่วนระยะต่อมาเป็นภาวะที่วุ้นตาแยกตัวออกจากจอประสาทตา ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หลังจากระยะแรกภายในไม่กี่วันหรือหลายเดือน ซึ่งอาการแสดงของวุ้นในตาเสื่อม มีดังนี้
- เห็นเงาดำลอยไปมาในตา
- เห็นเงาดำจุดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- มองไม่ชัด สายตาฝ้าฟาง เหมือนมีหยากไย่ในลูกตา
- เห็นแสงวาบในตา
- เห็นเงาคล้ายม่านบังตาบางส่วน
- ทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง
วิธีบำรุงดวงตาและการดูแลสุขภาพดวงตา
การดูแลดวงตาให้สุขภาพดีอยู่เสมอนั้น นอกจากจะช่วยให้ใช้งานสายตาได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วยังช่วยชะลอความเสื่อมของดวงตาที่อาจเป็นสาเหตุของวุ้นในตาเสื่อมให้เกิดได้ช้าลง โดยการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันและบำรุงดวงตาอย่างเหมาะสม ดังนี้
- เมื่อต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือจอมือถือเป็นเวลานานๆ ควรปรับแสงหน้าจอให้สว่างพอดีและสบายตา ไม่จ้าหรือมืดเกินไปจนทำให้สายตาต้องใช้งานหนัก ใช้แผ่นกรองแสงบริเวณหน้าจอหรือสวมแว่นตากรองแสงสีฟ้า
- ไม่ควรใช้สายตาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรพักสายตาเป็นระยะ ตามกฎ 20-20-20 คือ พักสายตาทุก 20 นาที โดยมองออกไปไกล 20 เมตรเป็นเวลา 20 วินาที
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ เพราะเป็นอีกปัจจัยที่ทำลายสุขภาพดวงตา ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม ภาวะวุ้นในตาเสื่อม และโรคตาอื่นๆ ด้วย
- เข้ารับการตรวจตาพร้อมกับวัดสายตาอย่างสม่ำเสมอ เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคทางดวงตา เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อมจากอายุ ภาวะวุ้นในตาเสื่อม เพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายและชะลอความเสื่อมของสายตาได้
- รักษาความชุ่มชื้นของดวงตา ไม่ควรปล่อยให้ตาแห้ง โดยการดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน หากรู้สึกว่าตาแห้ง ไม่สบายตา อาจใช้น้ำตาเทียมที่ได้มาตรฐานหยอดลงบนดวงตาเพื่อเคลือบผิวตาให้ชุ่มชื้น รวมถึงหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ตาแห้งง่าย อ่านต่อเพิ่มเติม : ตาแห้ง ตาล้า จอประสาทตาเสื่อม อาการและวิธีป้องกัน
- รับประทานอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารที่มีส่วนช่วยบำรุงสายตา ช่วยให้การทำงานของดวงตาเป็นไปตามปกติและมีส่วนช่วยป้องกันภาวะสายตาเสื่อม เช่น บิลเบอร์รี่สกัด ลูทีน เบต้าแคโรทีน แอสต้าแซนทีน รวมถึงสารอาหารที่เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตาอย่าง น้ำมันปลา และวิตามินบำรุงตา เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี ในปริมาณที่เพียงพอด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากมีภาวะวุ้นในตาเสื่อม ซึ่งมักก่อให้เกิดความรำคาญในช่วงหนึ่ง อาจเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อประเมินอาการ หากพบว่ามีการฉีกขาดของจอตาแพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการเลเซอร์หรือการจี้ด้วยความเย็น ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำร้ายดวงตาและควรดูแลสุขภาพดวงตาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพดวงตาและโรคตาที่อาจตามมาได้