5 แนวทางการรักษา ต่อมลูกหมากโตในผู้ชาย

ทั้งหมด
ต่อมลูกหมากโต แนวทางรักษา

ต่อมลูกหมากโต เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยอาการของโรคมักพบความผิดปกติของการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัสสาวะขัด รู้สึกปัสสาวะไม่สุด หรือ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้อาจรบกวนการใช้ชีวิตของผู้ชายทุกคน จึงควรเข้ารับการคัดกรองโรคและรักษาอย่างถูกวิธี โดยวิธีรักษาโรคต่อมลูกหมากโต มีตั้งแต่การรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน การใช้สารสกัดจากสมุนไพรทางเลือกอย่าง Saw Palmetto รวมถึงการผ่าตัด และ การใช้เลเซอร์ ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค

โรคต่อมลูกหมากโต คืออะไร

ต่อมลูกหมากโต (BPH – Benign Prostatic Hyperplasia) คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ขึ้นผิดปกติ ส่วนใหญ่พบในผู้ชายวัย 45 ปีขึ้นไป และ กว่า 80% พบในผู้ชายสูงอายุ 80 ปีขึ้นไป โดยโรคนี้เกิดจากต่อมลูกหมากที่ห่อหุ้มท่อปัสสาวะส่วนต้นมีขนาดใหญ่ขึ้นจนกดทับท่อปัสสาวะให้ตีบเล็กลง ส่งผลให้มีอาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะตอนกลางคืน ปัสสาวะไม่สุด หรือ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ นอกจากนี้โรคต่อมลูกหมากโต ยังอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผนังกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะหนาขึ้นจากการที่ต้องบีบตัวแรงขึ้นเพื่อขับปัสสาวะ รวมถึงส่งผลต่อการกักเก็บน้ำปัสสาวะที่น้อยลงกว่าปกติด้วย 

ผลกระทบหากโรคต่อมลูกหมากโตไม่ได้รับการรักษา

หากมีอาการต่อมลูกหมากโต หรือ พบความผิดปกติของการปัสสาวะ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม แต่หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดการอุดตันในท่อปัสสาวะ และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ เช่น 

  • ปัสสาวะขัด ปัสสาวะไม่ออกในทันที
  • นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาจส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ปัสสาวะเป็นเลือดเนื่องจากต่อมลูกหมากบวม
  • การทำงานของไตเสื่อมลง จากการที่ปัสสาวะไหลย้อนจากกระเพาะปัสสาวะขึ้นสู่ไต ซึ่งจะเพิ่มแรงดันต่อไตและอาจทำให้ไตวายได้

อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้อาจคล้ายกับอาการของโรคอื่น เช่น อาการเริ่มต้น ของมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้นผู้ชายทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองต่อมลูกหมาก หลังอายุ 55 ปีเป็นประจำ

วิธีสังเกตอาการ ต่อมลูกหมากโต

ต่อมลูกหมากโต มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตทางการแพทย์ สามารถทำได้หลายวิธี โดยแพทย์จะพิจารณาคัดกรองโรคและประเมินอาการ ก่อนรักษาตามอาการ และ ความรุนแรงของโรค 

1. ประเมินอาการเบื้องต้น 

เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคต่อมลูกหมากโตหรือไม่ สามารถเข้าประเมินอาการกับแพทย์ด้วยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจวัดความแรงของการถ่ายปัสสาวะ หากอาการไม่รุนแรงมากนัก อาจไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัด แพทย์อาจแนะนำให้สังเกตอาการและดูแลสุขภาพสักระยะหนึ่งก่อนเลือกวิธีรักษาที่ตรงจุดต่อไป อย่างไรก็ตามหากสังเกตตนเองแล้วไม่มั่นใจว่าอาการที่พบเข้าข่ายเป็นโรคต่อมลูกหมากโตหรือไม่ สามารถทำแบบประเมินสุขภาพได้ด้วยตนเอง

2. การรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน

เหมาะสำหรับคนที่มีอาการน้อยไปจนถึงปานกลาง แต่ต้องแน่ใจว่าไม่ได้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยยาที่นิยมใช้มีอยู่ 2 ชนิด คือ

  • ยาฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) เป็นยากลุ่ม 5-alpha reductase inhibitor ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชาย Dihydrotestosterone (DHT) และ มีผลกับขนาดของต่อมลูกหมาก โดยแพทย์จะรักษาตามอาการเป็นหลัก แต่ยากลุ่มนี้อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพทางเพศ
  • กลุ่มยาต้านระบบประสาทอัลฟา (Alpha Blocker) ช่วยคลายการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมากและส่งผลให้ต่อมลูกหมากมีขนาดเล็กลง แต่อาจมีอาการข้างเคียงโดยเฉพาะผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ

3. การรักษาด้วยสารสกัดจากสมุนไพร

สารสกัดจากสมุนไพร Saw Palmetto (ปาล์มใบเลื่อย) ที่มักนำมาใช้ คือ Liposterolic Extract of saw palmetto (LESP) ซึ่งมีสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อการรักษาภาวะต่อมลูกหมากโตที่มีความรุนแรงตั้งแต่เล็กน้อยถึงปานกลาง จากการทดลองพบว่า สารสกัด Saw palmetto ช่วยลดอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบปัสสาวะได้พอๆ กับการใช้ยาฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) ไม่มีผลต่อระดับสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากในเลือด ไม่ทำให้ความดันเลือดต่ำ และ มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นน้อยกว่า จึงเหมาะสำหรับใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา หรือ ใช้ควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน โดยปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ทุกครั้ง

4. การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

  • รักษาด้วยวิธีศัลยกรรมผ่านกล้องส่องกระเพาะปัสสาวะ TURP (Transurethral Resection of the Prostate) โดยผู้เข้ารับการรักษาจะได้รับยาสลบหรือยาชาเฉพาะที่และใช้ห่วงไฟฟ้าที่ปลายกล้องตัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากที่มีการอุดตันออกมา ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ ใช้เวลาประมาณ 90 นาที และ ใช้เวลาพักฟื้นร่างกายประมาณ 3 วัน 
  • รักษาด้วยวิธีผ่าตัดขูดต่อมลูกหมากโตผ่านกล้องส่องทางท่อปัสสาวะ TURPV (Transurethral Vaporized – Resection of the Prostate) โดยใช้เครื่องตัดและจี้ด้วยระบบไฟฟ้าโดยอาจตัดเนื้อเยื่อเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด 
  • รักษาด้วยเลเซอร์ PVP (Photoselective Vaporization of Prostate : Green Light PVP ) โดยจะสอดท่อที่มีกล้องขนาดเล็กผ่านเข้าทางท่อปัสสาวะและใช้แสงเลเซอร์พลังงานสูงยิงไปในตำแหน่งที่มีการอุดกั้นในต่อมลูกหมาก วิธีนี้จะทำให้เสียเลือดน้อย เหมาะกับผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด
  • รักษาด้วยการใช้แสงเลเซอร์ Thulium (Thulium Laser Vaporesection of the Prostate) หลักการเช่นเดียวกับเลเซอร์ PVP แต่วิธีนี้จะสามารถตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากที่อุดกั้นทางเดินปัสสาวะให้เป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อเก็บไว้ใช้เป็นตัวอย่างในการตรวจวินิจฉัย กรณีที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก 

5. การรักษาด้วยไอน้ำ

การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ (Water Vapor Therapy) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ต้องผ่าตัด โดยใช้เครื่องมือและกล้องสอดผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปยังต่อมลูกหมาก จากนั้นจะฉีดไอน้ำที่มีอุณหภูมิ 103 องศาเซลเซียลเข้าไปในต่อมลูกหมาก ไอน้ำจะกระจายเข้าไประหว่างเซลล์ต่อมลูกหมากและทำให้ท่อปัสสาวะกว้างขึ้น โดยวิธีนี้จะใช้เวลารักษาประมาณ 10 – 15 นาที

ใครบ้างที่ต้องระวังโรคต่อมลูกหมากโต

ผู้ชายที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นต่อมลูกหมากโตเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น รวมถึงผู้ชายที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ 

  • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นต่อมลูกหมากโต
  • น้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วน
  • โรคหัวใจและปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนเลือด
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • ไม่ได้รับการออกกำลังกายเพียงพอ

หากพบว่ามีความเสี่ยงและพบความผิดปกติของปัสสาวะ แนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยถึง สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา นอกจากนี้ผู้ชายที่อายุเริ่มเข้าสู่วัย 40 เป็นต้นไป ควรหมั่นดูแลสุขภาพ งดการดื่มแอลกอฮอล์ หรือ การดื่มน้ำปริมาณมากก่อนนอน รวมถึงหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ และอาจฝึกการขมิบอุ้งเชิงกรานบ่อยๆ เพื่อช่วยให้สามารถควบคุมการทำงานกล้ามเนื้อทางเดินปัสสาวะได้ดีขึ้น หากต้องการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือ สารสัดจากสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง 

อัลบั้มภาพ

ข่าวสุขภาพอื่นๆ

ฮอร์โมนเพศหญิง

ช่องคลอดแห้ง ปัญหาใหญ่สุขภาพผู้หญิง

ฮอร์โมนเพศหญิง

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับน้ำมันอีฟนิงพริมโรส

ฮอร์โมนเพศหญิง

5 วิธี ชะลอวัย เมื่อวัยทองมาเยือน