ผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้านหรือหัวล้าน หนึ่งในปัญหาบุคลิกภาพที่ทำให้ผู้ชายเสียความมั่นใจที่สุด เพราะโดยปกติแล้วเส้นผมของคนเราจะร่วงประมาณ 50-100 เส้นต่อวัน แต่หากผมร่วงมากกว่านั้นจนสังเกตได้ว่าผมบางลง ผมบางกลางหัว ไม่มีลูกผมงอกใหม่ อาจถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ากำลังประสบปัญหาผมร่วง ซึ่งวิธีการ ลดผมร่วง ในปัจจุบันนั้นสามารถทำได้หลายวิธี แต่ยังมีอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ชายที่ไม่อยากใช้ยาหรือใช้วิธีการปลูกผม คือการใช้ สมุนไพรแก้ผมร่วง จากสารสกัดของ สมุนไพร Saw Palmetto
หากต้องการลดผมร่วงอย่างตรงจุด จะต้องเข้าใจต้นตอปัญหาผมร่วงของตนเองเพื่อที่จะได้ดูแลรักษาหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจทำให้ผมร่วงได้ ซึ่งผู้ชายหลายคนอาจมีปัญหาผมบางกลางหัว ศีรษะล้านหรือหัวล้านที่อาจเกิดจากสาเหตุหลัก 4 ประการ ดังนี้
1. ผมร่วง จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศชาย
เมื่ออายุเพิ่มขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศชายจากเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ไปเป็นฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเทอโรน (Dihydrotestosterone หรือ DHT) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เกิดปัญหาผมร่วงในผู้ชาย พบมากในบริเวณต่อมลูกหมากและเส้นผม โดยฮอร์โมน DHT จะจับตัวกับเซลล์เส้นผมที่อยู่บริเวณใต้หนังศีรษะและเข้าไปยับยั้งกระบวนการสร้างเส้นผมที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้เซลล์เส้นผมมีขนาดเล็กลงตามอายุจนกลายเป็นผมเส้นอ่อนและขาดหลุดร่วงง่าย โดยเฉพาะบริเวณหน้าผากที่จะมีลักษณะเว้าลึกคล้ายลักษณะรูปตัว M และบริเวณกลางศีรษะ (Vertex) หรือที่มักเรียกกันว่า ศีรษะล้านหรือหัวล้าน
2. ผมร่วง จากพันธุกรรม
พันธุกรรม เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผมร่วงง่าย ผมบางหรือผมเส้นเล็ก เนื่องจากพันธุกรรมเป็นตัวกำหนดลักษณะของต่อมเส้นผม จากการสำรวจผู้ชายไทยที่มีอายุระหว่าง 18-90 ปี จำนวน 1,124 คน พบว่า ความชุกของผู้ชายที่มีผมบางแบบพันธุกรรมเท่ากับ 38.5% โดยมีฮอร์โมน DHT เป็นสาเหตุหลักและเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ทำให้ผมร่วงเพิ่มขึ้นตามอายุทั้งบริเวณด้านหน้า กลางกระหม่อม และกลางศีรษะ
3. ผมร่วง จากพฤติกรรมการใช้ชีวิต
ความเครียด และความวิตกกังวลจากชีวิตประจำวัน ถือเป็นอีกสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ชายผมร่วงได้ จากการที่ความเครียดมีส่วนกระตุ้นให้เส้นผมหยุดการเจริญเติบโตและขาดหลุดร่วง นอกจากนี้ พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์อาจทำให้ร่างกายขาดวิตามินที่จำเป็นต่อเส้นผม เช่น วิตามินบี ซิงค์หรือแร่ธาตุสังกะสี วิตามินซี วิตามินดี เป็นต้น รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่จะทำให้ระบบไหลเวียนเลือดแย่ลง ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังและรูขุมขนไม่แข็งแรง ซึ่งอาจทำให้ผมขาดหลุดร่วงได้ด้วยเช่นกัน
4. ผมร่วง จากการใช้ยาบางประเภท
ผลกระทบจากการใช้ยาบางประเภทอาจทำให้มีปัญหาผมร่วงและผมบางได้ เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน ยาเคมีบำบัด ยากันชัก ยาลดความดันบางชนิด ยาลดความเครียดบางชนิด เป็นต้น
จากการศึกษาในสมุนไพรหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ดอกอัญชัน มะกรูด น้ำมันมะพร้าว ทองพันชั่ง โสม ฯลฯ ต่างมีสารสำคัญที่ช่วยบำรุงเส้นผมและลดการขาดหลุดร่วงของเส้นผมได้ แต่อีกหนึ่งสมุนไพรที่สามารถลดผมร่วงที่เกิดจากฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผมร่วงในผู้ชายมากที่สุด ได้แก่ Saw Palmetto
ซอว์ ปาเมตโต้ (Saw Palmetto) หรือที่เรียกว่า ต้นปาล์มใบเลื่อย คือ สมุนไพรเก่าแก่ที่มีการศึกษามานานกว่า 200 ปี เป็นที่ยอมรับและนิยมทั้งในอเมริกาและยุโรป จากการศึกษาวิจัยทางการแพทย์พบว่า สามารถรักษาต่อมลูกหมากโตได้ ซึ่งมีประสิทธิภาพดีเทียบเท่ากับยาแผนปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยลดระดับ DHT และเพิ่มขึ้นที่รูขุมขน จึงช่วยลดผมร่วงในผู้ช่ายที่มีสาเหตุจากฮอร์โมนเพศชายได้ รวมถึงมีความปลอดภัย และไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพชีวิต
Saw Palmetto ถือเป็นสมุนไพรที่ช่วยลดผมร่วงที่เกิดจากฮอร์โมนเพศชายได้ดี ด้วยกลไกการยับยั้งเอนไซม์ 5-alpha reductase type II ที่เป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone)ไปเป็นฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเทอโรน (DHT) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาผมร่วงและผมบางกลางหัวในผู้ชาย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณของ Saw Palmetto พบว่ามีกลไกการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเหมือนกับยาฟิแนสเทอร์ไรด์ (Finasteride) ที่ใช้ในการ รักษาผมร่วงจากฮอร์โมนเพศชาย และไม่มีผลข้างเคียงที่สำคัญอย่างการลดสมรรถภาพทางเพศอีกด้วย
สมุนไพร Saw Palmetto นอกจากจะช่วยลดผมร่วงแล้ว ยังช่วยลดความรุนแรงของกลุ่มอาการที่เกิดจากต่อมลูกหมากโตได้ โดยสามารถรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารสกัดจากผลแห้งของ Saw Palmetto ในปริมาณ 320 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยให้ผู้ที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตอาการดีขึ้นและลดการหลุดร่วงของเส้นผมได้
การลดผมร่วงให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดนั้นจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากต้นเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ฮอร์โมนเพศชาย DHT พฤติกรรมการใช้ชีวิต สารอาหารที่จำเป็นต่อเส้นผม การบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ ซึ่งสามารถดูแลได้ทั้งภายในและภายนอก แต่หากผมร่วงหรือผมบางอย่างรุนแรงอาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาผมร่วงอย่างตรงจุดต่อไป
https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/ผมร่วง-ผมบาง
https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/hair-loss
https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=405
https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=28