Search

โอเมก้า 3 (Omega 3) กับประโยชน์เพื่อหัวใจและสมอง 

หลอดเลือดตีบตัน
โอเมก้า 3

กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว คือสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย โดยเฉพาะ โอเมก้า 3 (Omega 3) ซึ่งมีการยืนยันทางการแพทย์ถึงประโยชน์ที่สำคัญของกรดไขมันโอเมก้า 3 ต่อร่างกายในการลดความเสี่ยงหรือป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ทั้งนี้โอเมก้า 3 สามารถพบได้มากในไขมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันปลาจากแหล่งธรรมชาติ

ทำความรู้จักกับน้ำมันปลา  

น้ำมันปลาเป็นสารอาหารประเภทไขมัน ประกอบด้วยกรดไขมันในกลุ่ม Omega-3 (Polyunsaturated Fatty Acid) ซึ่งมีกรดไขมันที่สำคัญอยู่ 2 ชนิด คือ

1. EPA (Eicosapentaenoic Acid)

กรดไขมัน EPA มีส่วนช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด ป้องกันไขมันอุดตันหลอดเลือด ป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุในการเกิดโรคหัวใจและสมองอุดตัน นอกจากนั้นยังมีส่วนช่วยบรรเทาอาการข้อเสื่อม ข้อรูมาตอยด์ได้เช่นกัน

2. DHA (Docosahexaenoic Acid)

กรดไขมัน DHA มีบทบาทที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาสมองและสายตา ช่วยเสริมสร้างและป้องกันความเสื่อมของสมอง การเรียนรู้ และความจำ รวมถึงระบบสายตา ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ 

ประโยชน์ของโอเมก้า 3

1. ป้องกันโรคหัวใจและสมองขาดเลือด    

กรดไขมันโอเมก้า 3 ในน้ำมันปลาจะช่วยยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือดและลดไขมันในเลือด จึงช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ โดยเฉพาะหัวใจและสมอง

2. ป้องกันปัญหาโรคหลอดเลือดอุดตัน

กรดไขมันโอเมก้า 3 ในน้ำมันปลา เป็นสารตั้งต้นของสารกลุ่มไอโคซานอยด์ (Eicosanoids) ได้แก่ พรอสตาแกลนดิน-3 (Prostaglandins-3) และทรอมบอกแซน-3 (Thromboxan-3) ซึ่งสารกลุ่มนี้จะช่วยยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด จึงมีส่วนช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด และช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดในร่างกายดีขึ้น ลดการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ

3. ลดระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดได้ด้วยน้ำมันปลา    

ผลการวิจัยพบว่ากรดไขมันโอเมก้า 3 ในน้ำมันปลาจะมีประสิทธิภาพที่ดีในการลดระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด สามารถช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดได้ประมาณ 20%-50% ซึ่งประสิทธิภาพเทียบเท่ากับยาที่ใช้ในการลดระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ และถึงแม้ว่าผู้ป่วยที่มีระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์สูงถึง 500 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร น้ำมันปลาก็ยังเป็นทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดได้เป็นอย่างดี

4. ช่วยลดความดันโลหิต

จากผลการวิจัยของ John Hopkins Medical School ได้สรุปรวบรวมผลการศึกษาจาก  17 รายงานการศึกษาทางคลินิค พบว่าการรับประทานกรดไขมันโอเมก้า3 วันละ 3,000 มิลลิกรัม (ปริมาณ EPA+DHA) สามารถช่วยลดความดันล่าง (Diastolic Pressure) ได้ 3.5 มิลลิเมตรปรอท และความดันบน (Systolic pressure) ได้ถึง 5.5 มิลลิเมตรปรอท เนื่องจากกรดไขมัน โอเมก้า 3 ในน้ำมันปลา จะช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัว และป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น จึงมีผลให้ความดันโลหิตลดลง โดยน้ำมันปลาจะไม่มีผลต่อความดันในผู้ที่มีความดันโลหิตปกติ

โอเมก้า 3 สรรพคุณ

5. บำรุงสมอง เสริมความจำ ป้องกันโรคสมองเสื่อม   

จากการศึกษาพบว่า 40% ของกรดไขมันในสมอง และ 60% ของกรดไขมันในประสาทตา คือ กรดไขมัน DHA (Docosahexaenoic Acid) ทำให้กรดไขมัน DHA ในน้ำมันปลา มีบทบาทที่สำคัญและจำเป็นต่อสมอง ผลวิจัยทางการแพทย์จากมหาวิทยาลัย UCLA ของอเมริกา พบว่าการรับประทานน้ำมันปลาช่วยป้องกันสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) ได้ เนื่องจากการศึกษาเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุกว่า 1,000 คน เป็นเวลา 10 ปี พบว่าระดับกรดไขมัน DHA ที่ลดต่ำลงก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ และยังพบว่าสำหรับคนไข้อัลไซเมอร์นั้น กรดไขมัน DHA จะช่วยเพิ่มสาร LH11ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นตัวช่วยลดการเกิดการสร้าง Plaques (เส้นใย หรือ ไฟบริล) ในสมอง ซึ่งเป็นตัวการที่ทำลายใยประสาทส่วนความจำ ดังนั้นผู้สูงอายุที่มีสารนี้มากในสมอง จะทำให้ความจำเสื่อม และหลงลืมง่าย

6. ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น บรรเทาปวดหัวไมเกรน บรรเทาอาการข้ออักเสบรูมาตอยด์  และช่วยลดต้นเหตุการเกิดโรคหอบหืด

นอกจากจะให้ประโยชน์กับสุขภาพด้านหัวใจแลสมองแล้ว และกรดไขมัน EPA ในน้ำมันปลา จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสารพรอสตาแกลนดิน และลดการหลั่งสารซีโลโทนิน ทำให้การเกาะตัวของเกล็ดเลือดลดลงในระยะที่มีการบีบตัวของหลอดเลือดในสมอง จึงมีส่วนช่วยลดอาการไมเกรนได้

อีกทั้งโอเมก้า 3 ยังบรรเทาอาการข้อเสื่อม (Osteoarthritis) และข้อรูมาตอย์ (Rheumatoid arthritis) เนื่องจากมีผลลดการสร้างสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบของข้อ เช่น Interleukin-1, Tumor necrosis factor และกรดไขมัน EPA (Eicosapentaenoic Acid) ในน้ำมันปลา ยังเป็นสารตั้งต้นในการสร้างสาร PGE 3 ซึ่งช่วยลดอาการอักเสบของข้อ โดยรายงานการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Surgical Neurology  ระบุว่าน้ำมันปลาสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดคอ หรือปวดหลังเรื้อรัง โดยทำการศึกษากับผู้ป่วย 250 คน ได้รับประทานกรดไขมันโอเมก้า 3 วันละ 2,600 มิลลิกรัม (ปริมาณ EPA+DHA) ในช่วง 2 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นลดปริมาณลงเหลือวันละ 1,200 มิลลิกรัม (ปริมาณ EPA+DHA)  พบว่าหลังจากรับประทานน้ำมันปลา 75 วัน ผู้ป่วยประมาณ 59% สามารถเลิกรับประทานยาแก้ปวดต่างๆ ผู้ป่วยประมาณ 60% พบว่าอาการปวดหลังและปวดคอลดลง และผู้ป่วยกว่า 88% รู้สึกพึงพอใจกับผลที่ได้รับและยืนยันที่จะรับประทานน้ำมันปลาต่อ

นอกจากนี้การรับประทานน้ำมันปลาจะช่วยลดสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบที่เป็นตัวการสำคัญให้เกิดอาการหอบหืด คือ สารลิวโคไตรอิน และพรอสตาแกลนดิน ดังนั้นการรับประทานน้ำมันปลาอย่างต่อเนื่องจะช่วยบรรเทาอาการหอบหืดได้

หลักการเลือกน้ำมันปลาให้ได้คุณภาพ     

  1. ผลิตภายใต้ขบวนการที่ดี ตามมาตรฐานตำรับยายุโรป (GMP) วัตถุดิบ จากปลาในน่านน้ำที่ปราศจากมลภาวะน้ำมันปลาจากปลาสายพันธุ์ที่ถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนดปลอดภัยจากโลหะหนักปนเปื้อน ยาฆ่าแมลง และสารเคมีจากขบวนการผลิตที่เป็นพิษตกค้าง
  2. ผลิตจากโรงงานผลิตแคปซูลนิ่มใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ที่ได้รับมาตรฐานยาระดับสากลจากประเทศออสเตรเลีย (TGA) และประเทศยุโรป (BfArM) สามารถรับประกันความมั่นใจมากกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์ทั่วไป
  3. ปราศจากสารแต่งสี แต่งกลิ่นและสารกันบูด เพื่อป้องกันการสะสมในร่างกายจากการรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ
อ้างอิง

-

อัลบั้มภาพ

ข่าวสุขภาพอื่นๆ

ไขมันในเลือดสูง

5 วิธีลดไขมันในเลือดที่ดีที่สุด

ไขมันในเลือดสูง

ข้อควรระวังของการกินยาลดไขมันในเลือด

ไขมันในเลือดสูง

Krill Oil (คริลล์ออย) ตัวช่วยลดภาวะไขมันในเลือดสูง