วิตามินอี (Vitamin E) กับ ประโยชน์ต่อโรคในกลุ่ม NCDs

บำรุงร่างกายทั่วไป
วิตามินอี ประโยชน์ ต่อโรคเรื้อรังกลุ่ม NCDs

เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นกลุ่มโรค NCDs จึงไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม จนทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคตับแข็ง และ โรคมะเร็งต่างๆ เป็นต้น การดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันความเสี่ยงโรคเรื้อรัง นอกจากการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้ว วิตามินอี (Vitamin E) ยังเป็นอีกหนึ่งวิตามินที่มี ‘ประโยชน์’ ต่อการควบคุมกลุ่มโรค NCDs ด้วย 

NCDs คืออะไร ?

โรค NCDs (non-communicable diseases) คือ กลุ่มโรคชนิดไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรคและไม่แพร่กระจายจากคนสู่คน ผ่านทางการสัมผัสหรือการหายใจ แต่เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้เกิดการสะสมอาการอย่างต่อเนื่องจนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เมื่อมีอาการป่วยด้วยกลุ่มโรคเหล่านี้ อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต หรือปรับพฤติกรรมระยะยาวเพื่อควบคุมโรค โดยโรคในกลุ่ม NCDs ที่พบได้บ่อยในคนไทย เช่น

  • โรคเบาหวาน เป็นอีกหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่รักษาไม่หาย นอกจากพันธุกรรมแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกิน เพราะคนไทยส่วนใหญ่นิยมรับประทานอาหารที่มีรสหวาน ไม่ว่าจะเป็นขนม เครื่องดื่ม รวมถึงการปรุงอาหารคาวให้มีรสหวานจัด
  • โรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติ  ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่นความเครียด พันธุกรรม การพักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ชอบรับประทานอาหารรสเค็ม หรือโรคอ้วน เป็นต้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งโรคเรื้อรังที่รุนแรง หากไม่สามารถควบคุมโรคได้
  • โรคไขมันพอกตับ คือภาวะที่ไขมันเข้าไปสะสมในเซลล์ของตับมากกว่า 5-10% ของน้ำหนักตับ ซึ่งเมื่อปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน เซลล์ตับจะค่อยๆ ถูกทำลาย และเกิดการอักเสบจนเป็นพังผืด และมีโอกาสนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น มะเร็งตับ 
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เกิดจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบแคบลง เพราะมีคราบไขมันและหินปูนเกาะภายในผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนผ่านไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอเท่ากับความต้องการของร่างกาย จึงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ในที่สุด
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นโรคที่สามารถพบได้ในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป และพบในกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และ ผู้ที่สูบบุหรี่จัด

โรค NCDs สาเหตุสำคัญเกิดจากอะไรบ้าง?

เนื่องจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตทั้งการบริโภค ได้แก่

  • การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น พฤติกรรมการรับประทานในปริมาณที่มากเกินความต้องการของร่างกาย การรับประทานอาหารรสจัดเกินไป และมีไขมันสูง รวมถึงการรับประทานอาหารปิ้งย่างบ่อยๆ และไม่รับประทานผักผลไม้อย่างเพียงพอ ซึ่งอาจนำไปสู่การขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายและร่างกายได้รับพลังงานเกินความต้องการต่อวัน จึงทำให้มีกลูโคส คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และ โซเดียมในเลือดสูง
  • การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ และความเครียดสะสม อาจทำให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติ ภูมิต้านทานต่ำลง และ เจ็บป่วยได้ง่าย
  • การขาดการออกกำลังกาย ทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลง ไขมันสะสมในร่างกายมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ระบบเผาผลาญมีประสิทธิภาพแย่ลง
  • การสูบบุหรี่จัด ส่งผลให้ถุงลมภายในปอดเสียหาย อีกทั้งการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ และในปริมาณมาก ส่งผลให้ไขมันพอกตับและตับอักเสบได้ในที่สุด
วิตามินอี (Vitamin E) ประโยชน์

‘วิตามินอี’ กับ ‘ประโยชน์’ สำหรับผู้ป่วยโรคกลุ่ม NCDs

การดูแลสุขภาพของผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเหล่านี้ โดยเฉพาะวัยทำงาน พนักงานออฟฟิศ รวมถึงผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และต้องเผชิญกับมลภาวะเป็นประจำ นอกจากจะต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรคแล้ว การได้รับวิตามินหรือสารอาหารบางชนิดอาจช่วยควบคุมโรคเรื้อรังที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะ วิตามินอี (Vitamin E)  มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าโทโคฟีรอล (Tocopherol) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมันได้ดี มีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเซลล์ต่างๆ ไม่ให้ถูกทำลายจากอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน และ ประโยชน์ ในการป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ได้อีกด้วย

1. ประโยชน์ ต่อโรคความดันโลหิตสูง

วิตามินอี ช่วยให้หลอดเลือดคลายตัว และมีความยืดหยุ่นขึ้น ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดทั่วร่างกายดีขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น อาการปวดหัว ไมเกรน ปวดเมื่อย และปัญหาการนอนหลับ รวมถึงช่วยป้องกันการแตกของเม็ดเลือด และป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดได้

2. ประโยชน์ ต่อโรคไขมันพอกตับ

เนื่องจากวิตามีนอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทำให้เกิดการอักเสบและการตายของเซลล์ตับ การได้รับวิตามินอีอย่างเพียงพอ หรือรับประทานวิตามินอีเสริมกับโอเมก้า 3 มีส่วนช่วยในการลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ ไขมันในเลือด และ ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไขมันพอกตับ จากการได้รับสารพิษหรืออนุมูลอิสระที่เข้าสู่ร่างกายได้

3. ประโยชน์ ต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

วิตามินอี มีประโยชน์ในการช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ และป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ทำให้หลอดเลือดที่ไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีงานวิจัยที่พบว่า วิตามินอีสามารถป้องกันหรือชะลอโรคหลอดเลือดหัวใจได้ เนื่องจากวิตามินอีจะเข้าไปช่วยลดการเกิดกระบวนการออกซิเดชันของคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ช่วยให้การเกาะตัวกันของเกล็ดเลือดลดลง เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจทำงานดีขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบบหลอดเลือดหัวใจได้ นอกจากนี้ การได้รับวิตามินอีธรรมชาติวันละ 400-800 IU อย่างต่อเนื่อง จะช่วยลดการเกิดโรคหัวใจวายได้ถึง 77% 

4. ประโยชน์ ต่อโรคเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานมีอนุมูลอิสระในร่างกายปริมาณสูงมาก จึงทำให้เกิดการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการใช้สารต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามินอี จะช่วยป้องกันหรือลดภาวะอาการแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน และการเสริมวิตามินอีในผู้ป่วยเบาหวานอาจส่งผลดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อ่านต่อ : โรคเบาหวานต้องดูแลตัวเองอย่างไร

คำถามที่พบบ่อย

วิธีรับประทาน ‘วิตามินอี’ ให้ได้ ‘ประโยชน์’ สูงสุด

สำหรับผู้ที่ต้องการวิตามินอีเพิ่มขึ้น เพื่อประโยชน์ในการป้องกันโรค หรือผู้ที่มีปัญหาในการดูดซึมสารอาหาร ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรรับประทานในปริมาณ 40 – 200 IU ต่อวัน และ ไม่ควรรับประทานมากกว่า 1,500 IU ต่อวัน โดยปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ถึงปริมาณที่เหมาะสมก่อนรับประทาน

วิตามินอี มีโทษต่อร่างกายหรือไม่?

การได้รับวิตามินอีนอกจากจากแหล่งอาหารธรรมชาติ เช่น น้ำมันพืช ผักใบเขียว และธัญพืชต่างๆ แล้ว ยังสามารถได้รับวิตามินอีจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ ซึ่งโดยปกติร่างกายจะสามารถทนกับวิตามินอีได้ค่อนข้างสูง ซึ่งผลข้างเคียงอาจเกิดขึ้นได้เมื่อรับวิตามินอีที่ 800 IU ขึ้นไป โดยมีอาการแสดง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย มึนงง เป็นต้น ดังนั้นหากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ย่อมไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย เว้นแต่ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือรับประทานยารักษาโรคบางชนิด จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทาน

วิธีลดความเสี่ยงและป้องกัน โรค NCDs

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เน้นการรับประทานผักและผลไม้ที่ไม่หวานจัด
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสหวานจัด เค็มจัด และ อาหารที่มีไขมันสูง
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที
  • งดสูบบุหรี่และหลีกลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และรู้จักผ่อนคลายความเครียด
  • ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

จะเห็นได้ว่า กลุ่มโรค NCDs นั้น เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาในระยะยาว การควบคุมโรคที่ดีที่สุด คือ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต รับประทานอาหารที่เหมาะสมกับโรค รวมถึงการเสริมภูมิกันให้แข็งแรง อย่างการเสริมการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินอีหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีวิตามินอีจากธรรมชาติ  ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการชะลอความเสื่อมของเซลล์และช่วยให้การควบคุมโรคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หากมีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวควรรับประทานยาและดูแลตนเองตามที่แพทย์แนะนำ หากต้องการรับประทานวิตามินอี เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาโรค สามารถปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนรับประทาน 

อ้างอิง
  1. https://www.pobpad.com/วิตามิน-อี
  2. https://he02.tci-thaijo.org/index.php/TJHP/article/view/249675
  3. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/วิตามินอี-ดีต่อสุขภาพแล/
  4. https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/QA_full.php?id=2873
  5. https://www.medparkhospital.com/lifestyles/vitamin-e
อัลบั้มภาพ

ข่าวสุขภาพอื่นๆ

บำรุงร่างกายทั่วไป

ประโยชน์ของวิตามินอี

บำรุงร่างกายทั่วไป

เวย์โปรตีนสำหรับผู้ป่วย