'โรคตาแห้ง' (Dry eye disease) คุณสามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง

'โรคตาแห้ง' (Dry eye disease) คุณสามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง

   สนใจหัวข้อไหน... คลิกเลย

  'โรคตาแห้ง' (Dry Eye Disease) คืออะไร?

  วิธีแก้ปัญหา 'โรคตาแห้ง' (Dry Eye Disease) ด้วยตัวเอง

 

'โรคตาแห้ง' (Dry Eye Disease) คืออะไร?

     'โรคตาแห้ง' (Dry Eye Disease) คือหนึ่งในปัญหาใหญ่เกี่ยวกับดวงตาของบรรดาคนทำงานที่ต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน จากข้อมูลสถิติจากคนมากกว่า 42 ประเทศทั่วโลก มีคนมากกว่า 378 ล้านคนที่ต้องเข้ารับการรักษาโรคตาแห้ง ซึ่งโรคนี้เกิดจากดวงตาขาดสารหล่อลื่นและมีความชุ่มชื้นไม่เพียงพอ โดยก่อให้เกิดระคายเคืองตา ลุกลามไปจนถึงการการอักเสบของดวงตาในอนาคต

     สาเหตุที่ทำให้เกิด 'โรคตาแห้ง' (Dry Eye Disease) มีอยู่หลายปัจจัย แต่หากจะตีกรอบกลุ่มคนที่เสี่ยงเป็นโรคนี้ไปที่คนทำงาน หรือนักศึกษา สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคนี้ก็คือ การใช้สายตาจ้องจอสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดิจิตอลในระยะใกล้ติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงการอ่านหนังสือต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง สำหรับกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ สาเหตุนอกจากนี้ก็มีปัจจัยเช่น เพศ โดยพบว่าเพศหญิงจะมีโอกาสเป็นโรคตาแห้งมากกว่าเพศชาย และคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปก็มีโอกาสเป็นโรคตาแห้งสูงกว่าวัยอื่น อีกทั้งปัจจัยเกี่ยวกับโรคประจำตัวก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน

     ผลการวิจัยในต่างประเทศเกี่ยวกับพฤติกรรมของการใช้สายตาจ้องจอคอมพิวเตอร์ในระยะใกล้เป็นเวลานาน พบว่า การกระพริบตาของคนเราจะลดน้อยลงถึง 3 เท่ากว่าภาวะปกติ (โดยปกติคนเราจะกระพริบตา 8-15 ครั้งต่อนาที)

     หากนั่งทำงานในห้องแอร์ที่มีสภาพอากาศที่เย็นและแห้ง รวมกับแสงสีฟ้าจากจอคอมพิวเตอร์ ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่าย และโดยเฉพาะการทำงานติดต่อกันมากกว่า 2 ชั่วโมงโดยไม่พักสายตา ก็ยิ่งส่งผลให้เกิดตาแห้งได้ง่ายเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว  ที่สำคัญที่สุดก็คือ หากปล่อยไว้ไม่ดูแล จะส่งผลให้เยื่อบุตาอักเสบ แสบตา ตาแดง และหากตาแห้งมาก ๆ มีโอกาสที่กระจกตาจะถลอกหรือเป็นแผลเกิดการติดเชื้อได้ง่าย

 

 

วิธีแก้ปัญหาโรคตาแห้ง (Dry Eye Disease) ด้วยตัวเอง

     แพทย์เชี่ยวชาญเกี่ยวกับดวงตาทั่วโลก รวมถึง Dr. Akpek Esen ศาสตราจารย์ทางด้านจักษุวิทยาและผู้อำนวยการของ Johns Hopskins Medicine สถาบันที่เชี่ยวชาญโรคตาในสหรัฐอเมริกาได้แนะนำวิธีแก้ปัญหาโรคนี้ด้วยตัวเอง ซึ่งได้ผลและทำได้ง่ายๆ โดยเริ่มจาก  

1.  การกะพริบเป็นประจำ
     การกะพริบเป็นการสร้างความชุ่มชื้นให้กับดวงตาได้แบบธรรมชาติ และควรกะพริบตาในแต่ละครั้งให้ได้เฉลี่ยอย่างน้อย 8-15 ครั้งต่อนาที

2.  พักสายตาทุกๆ 20 นาที
     การนั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์ถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนทำงานเกิดอาการตาแห้งได้มากที่สุด ดังนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำเทคนิคที่จะช่วยสุขภาพดวงตาได้ก็คือ ใช้สูตร 20-20-20 โดยสูตรนี้แนะนำให้ทุกๆ 20 นาที ละสายตามองไปไกลได้ 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที

3.  หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมหรืออากาศที่แห้ง
     การทำงานในห้องแอร์ที่แห้ง หรือสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นควัน สามารถทำให้เกิดโรคตาแห้งได้มากกว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ปกติ ซึ่งคนทำงานส่วนใหญ่ต้องทำงานในห้องปรับอากาศ ความสะอาดของอากาศภายในห้อง ฝุ่นต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคตาแห้งทั้งสิ้น

4.  การใช้ยาหยอดตา
     การใช้น้ำตาเทียมหยอดตา ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยแก้ปัญหาโรคตาแห้งได้ เราสามารถใช้น้ำตาเทียมหยอดตาทุกๆ 1-2 ชั่วโมง เมื่อเกิดอาการตาแห้งระหว่างทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออ่านหนังสือเป็นเวลานาน ซึ่งน้ำตาเทียมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือชนิดที่มีสารกันเสียและชนิดที่ไม่มีสารกันเสีย หากเป็นชนิดที่ไม่มีสารกันเสียสามารถหยอดได้ตามความต้องการหรือทุกครั้งที่มีอาการ แต่หากเป็นชนิดที่มีสารกันเสีย ไม่ควรหยอดบ่อยเกินไป (4 ชั่วโมงไม่ควรหยอดเกิน 1 ครั้ง หรือไม่ควรหยอดเกินวันละ 4-6 ครั้ง)

5.  การใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบ
     การใช้น้ำอุ่นซึ่งมีอุณหภูมิที่พอเหมาะมาประคบดวงตาจะสามารถช่วยให้เปลือกตาผลิตไขมันมากขึ้น สามารถบรรเทาอาการตาแห้งได้ แต่ต้องแน่ใจว่าน้ำที่นำมาประคบต้องไม่ร้อนจนเกินไป เพราะหากน้ำมีความร้อนมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดการอักเสบแดงบริเวณเปลือกตาที่เป็นผลมาจากความร้อนได้ และผ้าที่นำมาประคบก็ต้องแน่ใจว่าสะอาดเพียงพอ เพราะโรคตาแห้งดวงตามีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายมากกว่าปกติ

6.  รับประทานสารอาหารที่จำเป็น
     หนึ่งในวิธีที่วงการแพทย์ยอมรับว่าสามารถป้องกันได้ก็คือ การรับประทานสารอาหารที่จำเป็นในการบำรุงดวงตาจากรายงานการวิจัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก พบว่า การได้รับสารอาหารที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น การบริโภคผักผลไม้หลากสีจะช่วยบำรุงดวงตาป้องกันการเสื่อมได้ โดยสารอาหารที่ช่วยดูแลดวงตาที่สำคัญหลักๆ มี 3 ชนิดได้แก่ ลูทีน (Lutein) พบมากในผักใบเขียว เช่น คะน้า ผักโขม ผักกาด ปวยเล้ง เป็นต้น โดยสารอาหารชนิดนี้จะทำหน้าที่ป้องกันรังสีจากแสงแดด ช่วยกรองแสงสีน้ำเงินที่มาทำลายดวงตาและช่วยปกป้องเซลล์ของจอประสาทตาโดยการลดอนุมูลอิสระที่ทำลายดวงตา
     สารอาหารต่อมาที่สำคัญก็คือ เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) เป็นสารอาหารธรรมชาติที่พบมากในแครอท ฟักทอง ร่างกายจะเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนให้เป็นวิตามินเอ ซึ่งช่วยการมองเห็นในที่มืด ป้องกันโรคตาบอดตอนกลางคืน และสามารถต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยบำรุงดวงตา และป้องกันโรคตาหลายชนิด เช่น ต้อกระจก รวมถึงช่วยให้ผิวเยื่อเมือกในตาชุ่มชื่นขึ้น
     สารอาหารอีกอย่างที่สำคัญในการป้องกันก็คือ แอสตาแซนธิน (Astaxanthin) ถือเป็นสุดยอดสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดอาการตาแห้ง ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อตา เพิ่มการไหลเวียนของเลือดเพื่อไปเลี้ยงกล้ามเนื้อตาได้ดีขึ้น และช่วยลดการอักเสบของของกล้ามเนื้อตาได้อีกด้วย 
     สารอาหารลำดับสุดท้ายก็คือ บิลเบอร์รี่สกัด (Bilberry extract) ผลไม้ในตระกูลเบอร์รี่ ก็สามารถบำรุงดวงตาได้เช่นกันโดยมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยป้องกันเลนส์ตา และสร้างความแข็งแรงให้กับเส้นเลือดฝอยในตาช่วยให้ไม่เปราะแตกง่าย อีกทั้งยังปกป้องเซลล์ดวงตาไม่ให้ขุ่นมัวอันเป็นต้นเหตุของโรคต้อกระจก

     แต่ในปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะทานสารอาหารบำรุงดวงตาในรูปแบบของอาหารเสริมกันมากขึ้น แต่การเลือกซื้อก็ต้องพิจารณาเลือกจากผลิตภัณฑ์ยี่ห้อที่เชื่อถือได้ ต้องคำนึงถึงมาตรฐานการผลิต เพราะปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบำรุงดวงตาขายอย่างมากมายในตลาด มีคุณภาพบ้าง ไม่มีคุณภาพบ้าง หากเลือกยี่ห้อที่ไม่มีมาตรฐานแทนที่จะได้รับประโยชน์กลับอาจจะทำให้ร่างกายได้รับผลเสีย

     สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการเลือกทานสารอาหารบำรุงดวงตาแล้ว เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ พักสายตาและปฏิบัติตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ ปัญหาโรคตาแห้งรับรองว่าไม่เกิดกับเราอย่างแน่นอน

 

 ขอบคุณข้อมูลจาก :            
1.  www.thailandmedical.news/news/dry-eye-syndrome:-symptoms,-causes-and-treatments-

2.  https://med.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/โรคตาแห้ง-อันตรายจากการ/

3.  https://www.everydayhealth.com/dry-eyes/do-it-yourself-ways-manage-dry-eye
https://prayod.com/บิลเบอร์รี่-บำรุงสายตา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้