Search

3 โรคตา ที่ต้องระวังของคนทำงานหน้าจอ

ตาแห้ง ตาล้า (CVS)
3 โรคตา ที่ชาวออฟฟิศต้องระวัง

ปัญหาของคนที่ทำงานหน้าจอหรือใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นประจำ นอกจากจะมีอาการออฟฟิศซินโดรมแล้วยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพดวงตาที่นำไปสู่ โรคตา ที่ร้ายแรงขึ้นได้อีกด้วย ซึ่งการใช้สายตาอย่างหนักโดยไม่ได้พักสายตาหรือพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่อาจทำร้ายสุขภาพดวงตาโดยไม่รู้ตัว อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคตาได้ โดยโรคตาที่คนทำงานหน้าจอต้องระวัง ได้แก่ โรคตา CVS โรควุ้นในตาเสื่อม และโรคจอประสาทตาเสื่อม ที่มีสาเหตุและอาการแสดงดังต่อไปนี้

โรคตา CVS

โรคตา CVS หรือ Computer Vision Syndrome คือ กลุ่มอาการทางตาและการมองเห็นที่เกิดจากการใช้สายตากับคอมพิวเตอร์ แท็บเลต หรือ โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน รวมถึงพฤติกรรมการมองจอที่ใกล้เกิน 6 นิ้ว การจ้องจอในสถานที่ที่มีแสงน้อย หรือมีท่านั่งที่ไม่เหมาะสมขณะใช้งาน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่าประมาณ 90% ของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน จะมีอาการของโรคตา CVS อย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจเป็นร่วมกันจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งความรุนแรงของอาการจะเพิ่มมากขึ้น ตามระยะเวลาในการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ และอาการของโรคนี้สามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่อีกด้วย

อาการของโรคตา CVS

โรคตาที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมการมองจอรวมถึงการนั่ง อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น 

  • รู้สึกไม่สบายตา เคืองตา ตาแห้ง
  • รู้สึกปวดตา หรือเจ็บตา
  • ตาพร่า ตาเบลอ จากการจ้องหรือเพ่งเป็นเวลานาน

โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นได้บ่อยและหากปล่อยไว้นานอาจส่งผลให้เกิดอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น ตาอักเสบ ค่าสายตาแย่ลง รวมถึงมีอาการปวดศีรษะ ปวดต้นคอ บ่า ไหล่ หลัง จากท่าทางการนั่งที่ไม่เหมาะสมหรืออาการของ Office Syndrome ร่วมด้วย 

กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคตา CVS

  • พนักงานออฟฟิศที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานเป็นประจำ
  • นักเขียน คนทำงานด้านกราฟิก หรือ ด้านไอที (IT)
  • นักศึกษา นักเรียน หรือ คนที่ทำงานออนไลน์
  • บุคคลที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ

การป้องกันโรคตา CVS

  • ควรพักการใช้สายตาระหว่างวัน เช่น พักสายตาจากการจ้องหน้าจอ หรือพักทุก 15 นาทีต่อการทำงานต่อเนื่อง 2 ชั่วโมง เป็นต้น
  • จัดแสงสว่างให้พอเหมาะต่อการใช้งานคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 
  • สวมใส่แว่นถนอมสายตาหรือใช้แผ่นกรองแสงสำหรับหน้าจออุปกรณ์ เพื่อลดแสงจ้าและแสงสะท้อน จะช่วยลดอาการตาล้าหรือแสบตาได้
  • บำรุงตาด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตา เช่น วิตามินเอ ลูทีน แอสต้าแซนธิน ซีแซนทิน เป็นต้น หรือหากรู้สึกตาแห้งควรหยอดน้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา

โรควุ้นในตาเสื่อม

วุ้นในตา (Vitreous) เป็นส่วนประกอบภายในดวงตา มีลักษณะเป็นเจลหนืดใสอยู่ส่วนหลังของลูกตาและติดกับจอประสาทตา หากวุ้นในตาเสื่อมลงจะแปลงสภาพบางส่วนกลายเป็นของเหลว บางส่วนจับเป็นก้อนหรือเป็นเส้นหยากไย่ และอาจหดตัวลอกออกจากผิวจอประสาทตา จึงทำให้เห็นเป็นเงาดำจุดเล็กๆ บางรายอาจเห็นเป็นเส้นหยากไย่ลอยไปมา หรือเป็นแสงวาบเหมือนแสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูป 

โรควุ้นในตาเสื่อม จึงถือเป็นโรคตาอีกชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันคนที่อยู่ในวัยทำงานมีความเสี่ยงเป็นโรคตาชนิดนี้มากขึ้น เนื่องจากมีการใช้สายตาจ้องคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้จะเพิ่มขึ้นตามลำดับความสั้นของสายตา

อาการของโรควุ้นในตาเสื่อม

  • มองเห็นเงาดำ หรือเส้นเหมือนหยากไย่ลอยไปมาตามการกลอกตา
  • เห็นเงาดำจุดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • มองเห็นตะกอนวุ้นตาชัดขึ้นเมื่อมองไปที่ผนังห้องสีสว่าง หรือท้องฟ้า
  • เห็นแสงวาบในตาเหมือนแสงแฟลชกล้องถ่ายรูป โดยเฉพาะในที่สลัวหรือที่มืด
  • ความสามารถในการมองเห็นลดลง

กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเกิดโรควุ้นในตาเสื่อม

  • คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • คนที่ใช้สายตาเพ่งอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานานอยู่เป็นประจำ
  • คนที่มีสายตาสั้นหรือเคยมีอุบัติเหตุที่ตา
  • คนที่ผ่าตัดต้อกระจกแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด
  • คนที่มีโรคตา เช่น การอักเสบในตา หรือภาวะเบาหวานขึ้นจอตา

การป้องกันโรควุ้นในตาเสื่อม

  • ปรับแสงหน้าจอให้สว่างพอดีและสบายตา เมื่อต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือจอมือถือเป็นเวลานานๆ 
  • พักสายตาทุก 20 นาที โดยมองออกไปไกล 20 ฟุต (หรือ 6 เมตร) เป็นเวลา 20 วินาที เมื่อต้องทำงานหน้าจอติดต่อกันเป็นเวลานาน 
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ 
  • คนที่มีโรคตาหรือมีความเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจตาพร้อมกับวัดสายตาอย่างสม่ำเสมอ 
  • รักษาความชุ่มชื้นของดวงตา โดยการดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวันหรือใช้น้ำตาเทียมเพื่อเคลือบผิวตาให้ชุ่มชื้น 
  • บำรุงตาด้วยการรับประทานอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่ และเน้นกลุ่มอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตา เช่น บิลเบอร์รี่สกัด ลูทีน เบต้าแคโรทีน เป็นต้น

อ่านต่อ : วุ้นในตาเสื่อม สาเหตุและอาการ พร้อมวิธีบำรุงดวงตาให้สุขภาพดี

โรคจอประสาทตาเสื่อม 

จอประสาทตา (Retina) คือ เนื้อเยื่อบาง ๆ บริเวณชั้นของเซลล์รับภาพซึ่งอยู่ด้านหลังของดวงตา มีหน้าที่รับแสงและส่งสัญญาณไปที่สมองเพื่อให้สามารถมองเห็นและเกิดการรับรู้ แต่หากจอประสาทตาเสื่อมหรือจุดรับภาพเกิดความเสียหาย  จะทำให้สูญเสียการมองเห็นที่คมชัดและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถขับรถเองได้ อ่านหนังสือไม่ได้ หรือแม้กระทั่งแยกแยะความแตกต่างของสิ่งที่พบเห็นได้ยาก 

จอประสาทตาเสื่อม (Age – Related Macular Degeneration หรือที่เรียกว่า AMD) เป็นโรคตาที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป ในระยะแรกอาจทำให้เริ่มมองเห็นวัตถุคดเบี้ยว ความคมชัดและสีสันลดลง หากเริ่มเป็นมากขึ้นจะทำให้ตาพร่ามัว การมองเห็นเลือนราง และอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้ในที่สุด โดยโรคตาชนิดนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ 

  • โรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (dry type) พบได้มากถึง 80% ในผู้สูงอายุ โดยจะทำให้จอประสาทตาฝ่อบางลงและสามารถรับภาพได้น้อยลงเรื่อยๆ อาการแสดงจึงเกิดขึ้น และใช้เวลานานหลายปี
  • โรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (wet type) มักมีอาการเกิดขึ้นแบบฉับพลัน ทำให้มีเลือดออกหรือเกิดสารน้ำรั่วซึมออกมาขังที่จุดรับภาพ ทำให้เซลล์รับแสงบวมหรือตาย จึงทำให้สูญเสียการมองเห็นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเป็นอาการต่อเนื่องที่เกิดจากโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งมาแล้วโดยไม่รู้ตัว

อาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม

  • มองเห็นภาพผิดปกติ เช่น เห็นภาพบิดเบี้ยวหรือผิดรูป
  • มองเห็นจุดดำ หรือเห็นสีผิดเพี้ยนไป
  • ตาพร่ามัว ต้องใช้แสงสว่างช่วยในการมองเห็นมากขึ้น

กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม

  • อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หรือพันธุกรรม
  • คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
  • คนที่สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • คนที่ใช้สายตาหนัก เช่น การจ้องหรือการเพ่งจอเป็นประจำ หรือการมองแสงสว่างจากจอในพื้นที่ ที่มีแสงน้อย อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคตาได้

การป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อม

  • หลีกเลี่ยงแสงแดดจ้า หรือการมองจอในที่มืด
  • งดสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • บำรุงดวงตาด้วยการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอและวิตามินอี ที่มีส่วนช่วยบำรุงเซลล์และการมองเห็น 
การป้องกันและชะลอการเกิด โรคตา

วิธีป้องกันและชะลอการเกิด ‘โรคตา’

โรคตา ที่พบได้บ่อยไม่ว่าจะเป็น โรคตา CVS , โรควุ้นในตาเสื่อม และโรคจอประสาทตาเสื่อม ที่แม้ว่าจะพบได้ในผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่การจ้องจอและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำร้ายดวงตาอาจเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคตาเหล่านี้ได้เร็วขึ้น เพื่อให้ดวงตามีสุขภาพดีและสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิดีตามวัยสามารถป้องกันและชะลอความเสื่อมของดวงตาได้ดังนี้  

1. ปรับพฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิส์

  • หมั่นพักสายตาเป็นระยะ โดยพักสายตาจากการใช้หน้าจอทุก 20 นาที ผ่อนคลายสายตาด้วยการมองไกลออกเป็นเวลาประมาณ 20 วินาที และปรับแสงสว่างหน้าจออุปกรณ์ที่ใช้ไม่ให้แสงจ้ามากเกินไปหรือปรับแสงสว่างภายในห้องให้เหมาะสม
  • ปรับระยะห่างการนั่งจากหน้าจอ หากใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ตั้งโต๊ะควรมีระยะห่างจากดวงตาประมาณ 40-50 ซม. และควรให้จุดกึ่งกลางของหน้าจออยู่ต่ำกว่าระดับสายตา เพื่อลดการเพ่งสายตาและอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา หากใช้สายตาเพ่งหรือจ้องเป็นเวลานานติดต่อกันหลายชั่วโมง อาจทำให้รู้สึกตาแห้งและระคาย ควรหยอดน้ำตาเทียมเพื่อให้ดวงตาชุ่มชื้นอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนเลือกซื้อน้ำตาเทียมหรือยาหยอดตามาใช้ 

2. สวมแว่นตากันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง

รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ในแสงแดดสามารถส่งผลกระทบต่อดวงตาได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการตาแห้ง แสบตา หรือส่งผลกระทบต่อการมองเห็นช่วยขณะ จึงควรสวมใส่แว่นตากันแดดเมื่อจำเป็นต้องอยู่ท่ามกลางแสงแดดจ้า โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคตา รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งด้วย 

3. งดสูบบุหรี่

เนื่องจากในควันบุหรี่มีโลหะหนักซึ่งเป็นสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อดวงตาได้ โดยสารพิษจะถูกส่งผ่านเข้าทางเส้นเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณดวงตา หากได้รับสารพิษเป็นเวลานานจะมีความเสี่ยงที่ทำให้คุณภาพการมองเห็นลดลงได้ นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังทำให้หลอดเลือดตีบเล็กลง จึงทำให้การหมุนเวียนเลือดมีปัญหาและไปหล่อเลี้ยงอวัยวะ รวมถึงดวงตาได้น้อยลง  

4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์สำหรับดวงตา

จากการศึกษารับประทานอาหารที่มีประโยชน์สำหรับดวงตา การได้รับสารอาหาร เช่น วิตามินอี วิตามินซี เบต้าแคโรทีน โอเมก้า-3 แร่ธาตุสังกะสีและทองแดง มีประโยชน์ในการชะลอการเสื่อมของโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ นอกจากนี้สารอาหารอย่างแอสต้าแซนธิน ลูทีน ซีแซนทีน ยังมีส่วนช่วยบำรุงสายตาและชะการเสื่อมของเซลล์ได้อีกด้วย ซึ่งการรับประทานอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวอาจช่วยชะลอความเสื่อมของดวงตาได้ดี โดยแหล่งอาหารธรรมชาติ ได้แก่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ผักใบเขียวต่างๆ รวมทั้ง แครอท ฟักทอง อะโวคาโด อัลมอนด์ ไข่และปลาที่มีไขมันดีในปริมาณสูง

อย่างไรก็ตาม สุขภาพของดวงตาเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย จึงควรตรวจเช็กสุขภาพดวงตากับแพทย์เฉพาะทางอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ผู้ที่มีโรคตาควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ที่ใช้งานหน้าจอและใช้สายตาหนัก สำหรับผู้ที่ยังไม่มีปัญหาสุขภาพดวงตาหรือโรคตาควรดูแลสุขภาพดวงตาอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดโรคตาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต 

อัลบั้มภาพ

ข่าวสุขภาพอื่นๆ

ตาแห้ง ตาล้า (CVS)

โรคตา 4 โรคที่คนทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ต้องระวัง!

ตาแห้ง ตาล้า (CVS)

ตาล้า ปวดกระบอกตา … ดูแลด้วย ลูทีนและแอสตาแซนธิน

จอประสาทตาเสื่อม

ตาแห้ง ตาล้า จอประสาทตาเสื่อม 3 ภัยสุขภาพดวงตาของคนไทยยุคนี้