Search

รู้ทัน PMS พร้อมวิธีป้องกันอาการปวดประจำเดือน

ปวดประจำเดือน
อาการก่อนมีประจำเดือน PMS

อาการ PMS หรืออาการก่อนมีประจำเดือน เรียกได้ว่าเป็นอาการที่ผู้หญิงทุกคนต้องพบเจอในทุกๆ เดือน ซึ่งผู้หญิงจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจจากอาการก่อนประจำเดือนมา ไม่ว่าจะเป็น อาการปวดเกร็งท้องน้อย ท้องอืด ตัวบวม อารมณ์แปรปรวน ฯลฯ เพื่อบรรเทาและป้องกันอาการเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องรู้เท่าทันอาการและดูแลสุขภาพของตนเองอย่างเหมาะสม

PMS (Premenstrual Syndrome) คืออะไร?

PMS ย่อมาจาก Premenstrual Syndrome คือ อาการก่อนมีประจำเดือน หรือที่เรียกกันว่า อาการก่อนเมนส์มา ซึ่งเป็นความผิดปกติในช่วงก่อนมีประจำเดือนจากการที่ระดับฮอร์โมนเพศหญิงและสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนมากมักจะมีอาการในช่วงก่อนมีประจำเดือนประมาณ 5-11 วัน และหายไปเองหลังจากประจำเดือนมาได้ 4-7 วัน ก่อนจะกลับมาเป็นซ้ำอีกในรอบเดือนถัดไป

อาการก่อนมีประจำเดือน หรือ PMS เป็นอย่างไร?

อาการก่อนมีประจำเดือนอาจมีทั้งอาการที่แสดงออกทางร่างกาย อารมณ์ และพฤติกรรม ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่จะดีขึ้นหรือหมดไปหลังจากประจำเดือนมา

อาการแสดงทางร่างกาย

  • ตกขาว และเจ็บคัดบริเวณเต้านม
  • ตัวบวม แขนและขาบวม น้ำหนักตัวขึ้น 
  • ปวดเกร็งท้องน้อย หรืออาการคล้ายปวดประจำเดือน 
  • ท้องอืด พุงป่อง มีสิวขึ้นบริเวณใบหน้า
  • อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง ปวดศีรษะ คลื่นไส้
  • รู้สึกคันตามร่างกาย

อาการแสดงทางอารมณ์และพฤติกรรม

  • โมโหง่าย หงุดหงิด สมาธิสั้น หรืออารมณ์แปรปรวน
  • นอนไม่หลับ เครียด ซึมเศร้า เป็นกังวล 
  • ความอยากอาหารและอารมณ์ทางเพศเปลี่ยนไป

ระดับความรุนแรงของอาการ PMS 

  • ผู้หญิงกว่า 80% พบอาการที่ส่งผลต่อร่างกาย พฤติกรรม และจิตใจในช่วงก่อนมีประจำเดือน 
  • ผู้หญิง 20-30% มีอาการในระดับเล็กน้อย-ปานกลาง หรือ Mild to Moderate Symptoms
  • ผู้หญิง 3-8% พบอาการก่อนมีประจำเดือนในระดับรุนแรง หรือที่เรียกว่า PMDD (Premenstrual dysphoric Disorder) เช่น ซึมเศร้ามาก ร้องไห้บ่อย โมโหร้าย นอนไม่หลับ ไม่มีเรี่ยวแรง มีอาการบวม คัดหน้าอกหรือปวดศีรษะอย่างมาก
PMS คืออะไร

วิธีรักษาอาการ PMS 

การรักษาอาการก่อนมีประจำเดือนนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. การรักษาแบบไม่ใช้ยา
    – การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกาย นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ลดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมและน้ำตาลสูง 
    – การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 6 รวมถึงอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง จะช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นและลดอาการอ่อนเพลียได้
    – จิตบำบัดเทคนิค Psychotherapy เพื่อช่วยปรับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม
    – การแพทย์ทางเลือก เช่น แพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนจีน (แต่ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด)
  2. การรักษาแบบใช้ยา
    – การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าหรือยาต้านเศร้า เช่น SSRIs SNRIs
    – การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด (Oral contraceptives) เพื่อช่วยให้อาการทางร่างกายและอาการซึมเศร้าดีขึ้น
    – การใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ (GnRH agonists) ช่วยลดอาการทางร่างกายก่อนมีประจำเดือน แต่จะมีผลต่อการเกิดกระดูกพรุนและโรคหลอดเลือดหัวใจ วิธีนี้จะไม่นิยมใช้เป็นทางเลือกในการรักษาในขั้นแรก
    – การใช้ยา Spironolactone ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม Potassium-sparing diuretic ช่วยลดอาการเจ็บคัดเต้านม ท้องอืด น้ำหนักขึ้น และอาการซึมเศร้า

วิธีป้องกัน PMS และอาการปวดท้องประจำเดือน

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 2.7 ลิตรต่อวัน เพื่อช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้นและลดสิ่งตกค้างในลำไส้ซึ่งเป็นตัวการของการเกิดสิวประจำเดือน นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ และแอลกอฮอล์ที่ส่งผลให้ปวดศีรษะและปวดท้องประจำเดือนจากการบีบตัวมากขึ้นในมดลูก
  • ออกกำลังกาย 3–5 ครั้งต่อสัปดาห์ (อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที) เช่น แอโรบิก โยคะหรือว่ายน้ำ เพื่อช่วยลดอาการอ่อนเพลียและซึมเศร้า
  • พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน และผ่อนคลายความเครียด เช่น การทำงานอดิเรกที่ชอบ การนวดผ่อนคลาย การฟังเพลง เป็นต้น
  • รับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน โปรตีน แคลเซียม และใยอาหาร เพื่อลดอาการท้องอืด เช่น ข้าวกล้อง ผัก ผลไม้ นม และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง 
  • หากมีอาการก่อนประจำเดือนมาและปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง ปวดท้องบิดหนัก หมดเรี่ยวแรง ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ให้ปกติได้ ควรตรวจสุขภาพและตรวจภายในเป็นประจำทุกปี เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคได้

สารอาหารและวิตามินป้องกันอาการ PMS และอาการปวดประจำเดือน

  1. ธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 และกรดโฟลิก (วิตามินบี 9 ) เมื่อมีประจำเดือนร่างกายจะอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หรือมีอาการหน้าวูบจากการที่ร่างกายสูญเสียเม็ดเลือดแดง การเสริมสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น ธาตุเหล็ก วิตามินบี12 และกรดโฟลิค (วิตามินบี 9 ) เพราะสารอาหารทั้ง 3 ชนิดนี้จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดงให้สมบูรณ์อย่างมาก ทำให้ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงอย่างเพียงพอ จึงช่วยลดอาการ อ่อนเพลีย หน้ามืดในช่วงมีประจำเดือนได้
  2. เฟอรัสฟูมาเรต (Ferrous Fumarate) เป็นยาบำรุงเลือดเสริมธาตุเหล็ก เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กสามารถรับประทานร่วมกับวิตามินซีเพื่อให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น

คำถามที่พบบ่อย

PMS กับ PMDD ต่างกันอย่างไร?

PMS (Premenstrual Syndrome) และ PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) ต่างเป็นอาการก่อนประจำเดือนเช่นเดียวกัน แต่อาการ PMS มักมีอาการที่หลากหลาย เช่น อารมณ์แปรปรวน เครียดและวิตกกังวล มีอาการปวดท้องประจำเดือนและอื่นๆ แต่ไม่เข้าขั้นรุนแรงมาก ส่วนอาการ PMDD เป็นระดับที่รุนแรงของอาการ PMS โดยก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางกายและทางจิตใจที่รุนแรงมากขึ้น จึงควรเข้ารับการรักษากับแพทย์เพื่อบรรเทาอาการและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข

ปวดท้องประจําเดือน กินยาอะไร?

ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) ซึ่งเป็นกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโพรสตาแกลนดิน จึงมีผลลดอาการปวดประจำเดือนได้ เช่น Ibuprofen, Mefenamic acid เป็นต้น แต่การรับประทานยาแต่ละชนิดนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประวัติแพ้ยา โรคประจำตัว หรืออาการ จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเลือกใช้ทุกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันอาการก่อนเป็นประจำเดือนด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์สามารถช่วยลดอาการปวดประจำเดือนในระยะยาวได้

ข้อสรุปเกี่ยวกับอาการก่อนมีประจำเดือน

อาการก่อนมีประจำเดือน เป็นอาการที่ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความรำคาญและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ จึงควรดูแลร่างกายด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 กรดโฟลิกหรือ วิตามินบี 9 รวมถึงการรับประทานยาบำรุงเลือดโดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก จะช่วยป้องกันอาการ PMS ก่อนมีประจำเดือนได้ ทั้งนี้ควรออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นสังเกตตนเอง หากมีอาการที่รุนแรงหรือผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

อ้างอิง
    1. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/infographic/pms-อาการก่อนมีประจำเดือน/
    2. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/466/ยาแก้ปวดประจำเดือน/
    3. https://www.sikarin.com/health/pms
    4. https://www.vichaiyut.com/th/health/diseases-treatment/other-diseases/pms-women/
    5. https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lecturestopics/50227/
    6. https://tu.ac.th/thammasat-130764-med-expert-talk-relieve-premenstrual-syndrome
อัลบั้มภาพ

ข่าวสุขภาพอื่นๆ

ฮอร์โมนเพศหญิง

ช่องคลอดแห้ง ปัญหาใหญ่สุขภาพผู้หญิง

ฮอร์โมนเพศหญิง

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส

ฮอร์โมนเพศหญิง

5 วิธี ชะลอวัย เมื่อวัยทองมาเยือน