Search

ยาลดไขมันในเลือด มีผลข้างเคียงอย่างไร พร้อมแนะนำการดูแลสุขภาพ

ไขมันในเลือดสูง
ผลข้างเคียงยาลดไขมัน กลุ่ม Statin

ยาลดไขมันในเลือด คือ ยากลุ่มที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidemia) ซึ่งอาจเกิดจากความไม่สมดุลของไขมันในกระแสเลือด หากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรงได้ แต่การใช้ยาลดไขมันในเลือดบางชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ ทั้งนี้ ผลข้างเคียงยาลดไขมัน ขึ้นอยู่กับประเภทของยาและปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย

ยาลดไขมันในเลือด คืออะไร มีกี่ประเภท 

ยาลดไขมันที่แพทย์มักใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงมีอยู่หลายประเภท ได้แก่ 

1. ยาลดไขมันกลุ่มเรซิน (Resins)

ยากลุ่มเรซิน หรือ ไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์ (Bile acid sequestrants) ออกฤทธิ์โดยการเข้าไปจับกับน้ำดีในทางเดินอาหาร เพื่อป้องกันการดูดซึมกลับของน้ำดีเข้าสู่กระแสเลือด จึงเข้าไปกระตุ้นการดึงคอเลสเตอรอลเข้าสู่เซลล์ตับมากขึ้น ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ลดลงได้ ตัวอย่างยาลดไขมันในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาคอเลสติพอล (Colestipol) และยาคอเลสไทรามีน (Cholestyramine)  

2. ยาลดไขมัน กลุ่มไฟเบรต (Fibrates) 

ยาในกลุ่มไฟเบรต ออกฤทธิ์ลดกระบวนการผลิตไลโปโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่ลำเลียงไตรกลีเซอร์ไรด์ในกระแสเลือด และเร่งกระบวนการกำจัดไตรกลีเซอร์ไรด์จากเลือด ยากลุ่มนี้จึงมักถูกใช้เพื่อลดระดับไขมันในเลือดโดยเฉพาะไตรกลีเซอร์ไรด์ รวมถึงช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ด้วย เช่น  ยาเจมไฟโบรซิล (Gemfibrozil) หรือยาฟีโนไฟเบรต (Fenofibrate) เป็นต้น

3. ยาลดไขมัน กลุ่มสแตติน (Statins)

ยากลุ่มสแตตินหรือที่เรียกกันว่า ยาลดคอเลสเตอรอล ซึ่งแพทย์มักใช้ในการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง โดยยากลุ่มนี้จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ด้วยการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยผลิตคอเลสเตอรอลในร่างกาย จึงทำให้ระดับไขมันในเลือดและระดับไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดลดลงตามไปด้วย เช่น

  • ยาซิมวาสแตติน (Simvastatin)
  • ยาโรซูวาสแตติน (Rosuvastatin)
  • ยาอะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin)
  • ยาพิทาวาสแตติน (Pitavastatin)
  • ยาพราวาสแตติน (Pravastatin)
  • ยาฟลูวาสแตติน (Fluvastatin)

นอกจากนี้ยังมียากลุ่มอิเซททิไมบ์ (Ezetimibe) ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลที่ลำไส้ รวมถึงยากลุ่มไนอะซิน (Niacin) ซึ่งเป็นอนุพันธุ์ของวิตามินบี 3 ขนาดสูงที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ตับและเนื้อเยื่อไขมันด้วย ซึ่งการใช้ยาลดไขมันทุกชนิดควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เพื่อป้องกันการใช้ยาผิดวิธีและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้

ทำไมจึงเกิด ‘ผลข้างเคียงยาลดไขมัน’

ผลข้างเคียงยาลดไขมัน โดยเฉพาะยาในกลุ่มสแตติน (Statins) อาจมีผลลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดโดยการยับยั้งเอนไซม์ที่เรียกว่า HMG-CoA reductase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สำคัญในกระบวนการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลในตับ ทำให้ขาดสารบางอย่างรวมถึงโคเอนไซม์คิว 10 (Coenzyme Q10 หรือ Co Q10) ซึ่งเป็นสารที่พบในไมโตคอนเดรียและทำหน้าที่ในกระบวนการผลิตพลังงานในเซลล์และมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระด้วย

ผลข้างเคียงยาลดไขมัน กลุ่มสแตติน (Statins)

  • การผลิต Coenzyme Q10 ลดลง เนื่องจากยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน (Statins) จะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ HMG-CoA reductase และลดการสร้างโคเลสเตอรอลและยังลดการผลิตสารตั้งต้นที่สำคัญสำหรับการสังเคราะห์ Coenzyme Q10 ด้วย จึงทำให้ระดับ Coenzyme Q10 ลดลงได้หากรับประทานยากลุ่มนี้ในขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน 
  • ผลกระทบต่อกล้ามเนื้อ ยาในกลุ่มสแตตินอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อได้ เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อ กดแล้วเจ็บ ปวดตึง ไม่มีแรง หรืออาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ หากมีอาการรุนแรงอาจมีอาการเกี่ยวกับกล้ามเนื้อร่วมกับมีปัสสาวะสีเข้มซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย โดยอาจเกิดจากการใช้ร่วมกับยาอื่นที่มีผลเสียต่อกล้ามเนื้อชนิดอื่นๆ ด้วย
  • ผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ หากการได้รับยาลดไขมันในกลุ่มสแตตินที่อาจส่งผลให้ระดับของ Coenzyme Q10 ลดลง อาจทำให้เซลล์ต่างๆ เสื่อมลงและทำงานได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว ซึ่งมักมีอาการที่สังเกตได้ เช่น มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นแรงผิดจังหวะ รู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ชีพจรเร็ว หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก รวมถึงชาปลายมือและปลายเท้า เป็นต้น

อ่านต่อ : 7 อาหารบำรุงหัวใจ ช่วยป้องกันโรคหัวใจเเละหลอดเลือด

อาการที่อาจเกิดจาก ผลข้างเคียงยาลดไขมัน

ยาลดไขมันสำหรับรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงที่แพทย์กำหนดส่วนใหญ่จะมีความปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายกับผู้ที่เข้ารับการรักษา แต่ผลข้างเคียงยาลดไขมันหรืออาการผิดปกติอาจพบได้จากยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน ถึงแม้ว่ายังไม่มีอาการที่ชัดเจน แต่อาจพบอาการเหล่านี้ได้

  • อาาการปวดกล้ามเนื้อ (Muscle pain or Aching or Myalgia) 
  • อาการตึง (Stiffness or Tenderness) หรือตะคริว (Cramping) มักแสดงอาการตอนกลางคืน 
  • อาการเหนื่อยล้า (Weakness) ร่วมกับมีอาการคล้ายกับอาการของโรคหวัด หรืออาการคล้ายกับอาการเหนื่อยล้าจากการทำงาน แต่หากพักผ่อนอย่างเพียงพอแล้วยังอาการไม่ดีขึ้น อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาลดไขมันได้
  • อาการอื่น ๆ เช่น น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ ปัสสาวะมีสีน้ำตาล เป็นต้น

โดยปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดผลข้างเคียงหรือส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ยาในขนาดสูงและติดต่อกันเป็นเวลานานที่อาจมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้มากกว่าการใช้ยาขนาดต่ำในช่วงเวลาที่สั้นกว่า โดยเฉพาะผู้ใช้ยาที่มีอายุมากกว่า 80 ปี หรือมีร่างกายเล็ก ผอมบาง ไม่แข็งแรง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผู้ที่เป็นโรคไต ขาดวิตามินดี หรือการใช้ยาที่อาจส่งผลเสียต่อกล้ามเนื้อร่วมกับยาลดไขมันกลุ่มสแตติน ทำให้ยากลุ่มนี้ถูกกำจัดออกจากร่างกายได้ช้าลง จึงอาจส่งผลข้างเคียงต่อกล้ามเนื้อและอาการผิดปกติต่างๆ ได้ ดังนั้นหากเกิดอาการเหล่านี้ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที

ป้องกัน ผลข้างเคียงยาลดไขมัน Statin

การเสริม Coenzyme Q10 สำหรับผู้ใช้ ยาลดไขมันในเลือด

การใช้ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตตินอาจมีผลให้ระดับโคเอนไซม์คิวเท็น หรือ Coenzyme Q10 ในร่างกายลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีระดับ Coenzyme Q10 น้อยอยู่แล้ว และจำเป็นต้องใช้ยาลดไขมันในกลุ่มสแตตินจะยิ่งทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการขาด Coenzyme Q10 มากขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูแลสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่มีวิตามินและแร่ธาตุที่ครบถ้วน ซึ่งแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วย Coenzyme Q10 ได้แก่ เนื้อวัว เครื่องในสัตว์ เนื้อปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ไข่ ผักขม ถั่วลิสง น้ำมันถั่วเหลือง เมล็ดงา หรือในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น

อ่านต่อ : Coenzyme Q10 ประโยชน์ที่มีมากกว่าการบำรุงผิว

วิธีรับประทาน Coenzyme Q10

เนื่องจาก Coenzyme Q10 เป็นสารประกอบที่ละลายได้ในไขมัน จึงทำให้ดูดซึมได้ช้าลงและได้ปริมาณที่จำกัดจึงควรรับประทานร่วมกับอาหารที่หลากหลาย เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดียิ่งขึ้น

  • ผู้ที่ใช้ยาลดไขมันคอเลสเตอรอลกลุ่มสแตติน ควรได้รับ Coenzyme Q10 ประมาณ 100 มิลลิกรัมต่อวัน หากรับประทานในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แนะนำให้รับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
  • ผู้ที่ใช้ยาลดไขมันคอเลสเตอรอลกลุ่มสแตติน (ที่มีโรคเบาหวาน และ/หรือความดันโลหิตสูงร่วมด้วย)  ควรได้รับ Coenzyme Q10 ประมาณ 200 มิลลิกรัมต่อวัน หากรับประทานในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแนะนำให้รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

วิธีดูแลสุขภาพของผู้ใช้ยาลดไขมัน

ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงและจำเป็นต้องใช้ยาลดไขมัน ควรดูแลสุขภาพของตัวเองควบคู่ไปกับการใช้ยา เพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา

  • งดสูบบุหรี่ทุกรูปแบบ 
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ เช่น น้ำมันมะกอก เนื้อปลา อกไก่ ไข่ขาว เป็นต้น และเน้นการรับประทานอาหารจำพวกธัญพืช ผัก ผลไม้ ปลา และข้าวไม่ขัดสีมากขึ้น 
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันปาล์ม มาการีน อาหารแปรรูป ฯลฯ 
  • ออกกำลังกายอย่างน้อย 5 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือ 3.5 – 7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ละครั้งควรออกกำลังกายนาน 30- 60 นาที
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยค่าปกติของเส้นรอบเอวสำหรับผู้หญิง ไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตร หรือ 32 นิ้วและค่าปกติของเส้นรอบเอวสำหรับผู้ชาย ไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตร  หรือ 36 นิ้ว

อ่านต่อ : 5 วิธีลดไขมันในเลือดที่ดีที่สุด

ดังนั้น ผู้ที่ใช้ยาลดไขมันในกลุ่มสแตตินจึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติหรือผลข้างเคียงจากยาลดไขมันที่อาจเกิดขึ้นหลังใช้ยานานติดต่อกัน 1 เดือนขึ้นไป และควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ รวมถึงการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วย Coenzyme Q10 ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีคุณสมบัติในการเป็นสารแอนตี้ออกซิแดนซ์ (Antioxidant) ที่จับกับสารอนุมูลอิสระในกระแสเลือดและยังเป็นสารประกอบที่ช่วยสร้างพลังงานให้แก่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและสมอง จึงมีประโยชน์ในการเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหัวใจและอาจมีส่วนช่วยลดความดันโลหิต รวมถึงลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย ทั้งนี้ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง

อ้างอิง
  • https://www.bedee.com/articles/pharmacy/lipid-lowering-drugs
  • https://www.gpoplanet.com/th/blog/12449/blog-12449
  • https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/service-knowledge-article-info-old.php?id=475
  • https://www.intouchmedicare.com/cholesterol-lowering-medicine
  • https://ishiistrokecenter.com/medicine-to-reduce-blood-fat/
  • https://www.pobpad.com/ยาลดไขมันในเลือดมีกี่ชนิด
อัลบั้มภาพ

ข่าวสุขภาพอื่นๆ

ไขมันในเลือดสูง

5 วิธีลดไขมันในเลือดที่ดีที่สุด

ไขมันในเลือดสูง

ข้อควรระวังของการกินยาลดไขมันในเลือด

ไขมันในเลือดสูง

Krill Oil (คริลล์ออย) ตัวช่วยลดภาวะไขมันในเลือดสูง