โลหิตจาง ภาวะหลังคลอดที่คุณแม่ต้องระวัง

บำรุงร่างกายทั่วไป
โลหิตจาง ผู้หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด

โลหิตจาง หลังคลอดบุตร (Postpartum Anemia) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังการคลอด จากการที่ระดับฮีโมโกลบินในเลือดของคุณแม่ลดต่ำลงกว่าระดับปกติ โดยฮีโมโกลบินเป็นโมเลกุลโปรตีนภายในเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย หากระดับฮีโมโกลบินลดลงมากเกินไป จะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หน้ามืดหรือวิงเวียนศีรษะ และมีอาการอื่น ๆ ตามมา ซึ่งความรุนแรงของภาวะโลหิตจางนี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ

สาเหตุของภาวะ ‘โลหิตจาง’ หลังคลอด เกิดจากอะไร

โลหิตจางหลังคลอดสาเหตุที่พบบ่อยมากที่สุดมักเกิดจากการขาดสารอาหารที่จำเป็น โดยเฉพาะธาตุเหล็ก เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างฮีโมโกบินหรือเม็ดเลือดแดง รวมถึงอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การสูญเสียเลือดเรื้อรังก่อนตั้งครรภ์ การขาดกรดโฟลิก กรรมพันธุ์ของโรคธาลัสซีเมีย ฯลฯ อีกทั้งคุณแม่บางคนที่มีภาวะโลหิตจางระหว่างการตั้งครรภ์นั้นยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะโลหิตจางหลังคลอดได้ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  1. การขาดธาตุเหล็กสะสม
    ในช่วงการตั้งครรภ์ร่างกายจะมีความต้องการธาตุเหล็ก (Iron) เพิ่มมากขึ้นเพื่อใช้ในการสร้างเม็ดเลือดแดงให้เพียงพอสำหรับทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ หากคุณแม่มีภาวะโลหิตจางสะสมมาตั้งแต่ก่อนหรือระหว่างการตั้งครรภ์ รวมถึงการได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางต่อเนื่องหลังการคลอดได้
  2. สารอาหารไม่เพียงพอ 
    สำหรับคุณแม่บางรายอาจมีข้อจำกัดในการรับประทานอาหารหลังคลอด เช่น ความเบื่ออาหาร หรือการมีข้อห้ามในการรับประทานอาหารบางชนิด ซึ่งอาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอ
  3. การสูญเสียเลือดระหว่างคลอด
    ในระหว่างการคลอดบุตรโดยเฉพาะการผ่าคลอด อาจทำให้คุณแม่สูญเสียเลือดได้มากกว่าปกติ เพราะหากสูญเสียเลือดเกิน 500 มิลลิลิตรในกรณีคลอดธรรมชาติ หรือมากกว่า 1,000 มิลลิลิตรในกรณีผ่าคลอด จะถือว่าเป็นการสูญเสียเลือดมากและอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ นอกจากนี้หากคุณแม่มีภาวะโลหิตจางตั้งแต่ก่อนคลอด ระดับฮีโมโกลบินในเลือดอาจอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการทดแทนการสูญเสียเลือดไประหว่างคลอดจึงอาจส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางหลังคลอดได้
  4. การฟื้นฟูหลังคลอด
    ภาวะโลหิตจางในระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้การฟื้นตัวของร่างกายหลังคลอดช้าลง เพราะร่างกายจะมีความต้องการธาตุเหล็ก วิตามินและแร่ธาตุเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่ ซึ่งถ้าระดับธาตุเหล็กในร่างกายต่ำอยู่แล้ว การฟื้นตัวอาจไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เกิดภาวะโลหิตจางต่อเนื่องหลังคลอดด้วยเช่นกัน
  5. ความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน
    คุณแม่ที่มีภาวะโลหิตจางตั้งแต่ระหว่างการตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อหลังคลอด หรือความล้มเหลวของอวัยวะบางส่วนเนื่องจากการขาดออกซิเจน  ซึ่งอาจทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่ได้เร็วพอที่จะทดแทนส่วนที่สูญเสียไป หากภาวะโลหิตจางไม่ได้รับการแก้ไขก่อนการคลอดบุตรอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนมากยิ่งขึ้น

ผลกระทบจากภาวะโลหิตจาง หลังคลอด

ภาวะโลหิตจางในคุณแม่ตั้งครรภ์มีผลกระทบในทุกระยะของการคลอดและมีผลกระทบต่อทั้งสุขภาพคุณแม่และเด็กทารก เช่น

  • การทำงานของหัวใจหนักขึ้น เพิ่มความเสี่ยงหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)
  • มีโอกาสติดเชื้อต่าง ๆ ง่ายขึ้น
  • ผลกระทบจากการสูญเสียเลือดในช่วงการคลอดและหลังคลอดอาจทำให้เกิดภาวะช็อกได้
  • ภาวะโลหิตจางสัมพันธ์กับการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression / Baby blues )
  • ทารกน้ำหนักน้อยกว่าปกติ หรือทารกโตช้าในครรภ์ เพิ่มอัตราการสูญเสียทารกและการ คลอดก่อนกำหนด

อาการที่พบบ่อยของภาวะ โลหิตจาง ในช่วงหลังคลอด

  • มีอาการใจสั่น หายใจถี่
  • รู้สึกอ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย
  • มีอาการหน้ามืด หรือวิงเวียนศีรษะ
  • มีภาวะซีด ผิวแห้ง หรือ ผมร่วงหลังคลอด เป็นต้น

อ่านต่อ : ผมร่วงหลังคลอด ปัญหาที่คุณแม่มือใหม่ต้องเจอ

อาหารบำรุง โลหิตจาง

การบำรุงเลือด และวิธีป้องกันภาวะโลหิตจางหลังคลอดบุตร

วิธีการป้องกันภาวะโลหิตจางหลังคลอด ในช่วงก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรบำรุงร่างกายโดยการรับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงเลือด และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของคุณแม่ให้แข็งแรง รวมถึงการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ดังนี้

1. การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงเป็นประจำ เช่น 

  • เนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู และเครื่องในสัตว์ เช่น ตับ ที่มีธาตุเหล็กสูง
  • ผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักโขม คะน้า และบรอกโคลี
  • ถั่วและธัญพืช เช่น ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว รวมถึงเมล็ดฟักทอง และเมล็ดทานตะวัน
  • ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีธาตุเหล็ก หากได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอจากมื้ออาหาร แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีธาตุเหล็ก วิตามินซี (เพื่อช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก) และวิตามินบี 12 โดยเฉพาะในกรณีที่คุณแม่มีความเสี่ยงสูงหรือมีประวัติโรคโลหิตจางมาก่อน

นอกจากนี้คุณแม่ตั้งครรภ์และคุณแม่หลังคลอดยังสามารถบำรุงเลือดด้วยการเลือกรับประทานผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม สตรอเบอรี กีวี หรือผักใบเขียวร่วมกับอาหารที่มีธาตุเหล็กได้ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มอย่างชาและกาแฟ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารแทนนินที่อาจลดการดูดซึมธาตุเหล็กได้

2. การดูแลสุขภาพทั่วไปและพักผ่อนให้เพียงพอ คุณแม่ควรดูแลสุขภาพของตนเองในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอดมากเป็นพิเศษ รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงความเครียด จะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่และยังเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้อีกด้วย

3. การตรวจเลือดระหว่างตั้งครรภ์ การตรวจเลือดเพื่อประเมินระดับฮีโมโกลบินและธาตุเหล็กในระหว่างการฝากครรภ์จะช่วยให้สามารถตรวจพบภาวะโลหิตจางได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และสามารถให้การรักษาได้ทันท่วงที

4. การออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยการออกกำลังกายแบบไม่มีแรงกระแทกอย่าง การว่ายน้ำเบาๆ หรือการโยคะสำหรับคุณแม่ จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและช่วยลดอาการปวดเมื่อยร่างกายได้ หลังจากคลอดบุตรอาจเริ่มออกกำลังกายอย่างเบาๆ อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มออกกำลังกาย 

5. การปรึกษาแพทย์อย่างสม่ำเสมอ คุณแม่ควรเข้ารับคำปรึกษาและติดตามผลสุขภาพจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้สามารถตรวจพบภาวะที่เป็นอันตรายได้เร็วขึ้น และสามารถรับการรักษาที่เหมาะสมได้ทันเวลา

คำถามที่พบบ่อย 

  • ภาวะโลหิตจางหลังคลอด เกิดขึ้นจากการสูญเสียเลือดมากระหว่างหรือหลังการคลอดบุตร การขาดธาตุเหล็ก หรือการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอด ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวและไม่ได้เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจึงสามารถฟื้นบำรุงได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงหรือการรับประทานอาหารเสริมที่เหมาะสม
  • โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงมีรูปร่างผิดปกติและแตกตัวง่าย ส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางเรื้อรัง ซึ่งโรคนี้เป็นภาวะที่ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตามคุณแม่ที่มีพันธุกรรมของโรคธาลัสซีเมียอาจส่งผลต่อการเกิดภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์และภายหลังคลอดบุตรด้วยเช่นกัน

2. โลหิตจาง ห้ามรับประทานอะไรบ้าง?

ภาวะโลหิตจางที่เกิดขึ้นชั่วคราวอย่างช่วงหลังคลอดส่วนมากมักเกิดจากขาดธาตุเหล็ก จึงจำเป็นต้องเสริมการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้นจึงควรงดหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อาจเข้าไปขัดขวางและยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กเช่น 

  • แคลเซียม พบมากใน นมและผลิตภัณฑ์จากนม จึงไม่ควรดื่มนมพร้อมอาหารหรือวิตามินที่เสริมธาตุเหล็ก
  • แทนนิน เช่น เครื่องเทศ ชา กาแฟ 
  • ไฟเตท ที่พบมากในผักที่มีรสฝาด เช่น ขี้เหล็ก กระถิน ข้าวโอ๊ต ข้าวไม่ขัดสี เป็นต้น
  • โพลีฟีนอล พบมากในพืชจำพวกสมุนไพรและขมิ้นชัน

นอกจากนี้ยังอาจเสริมการรับประทานสารอาหารที่ช่วยบำรุงเลือดควบคู่กันไปด้วย เช่น กรดโฟลิกและวิตามินบี 12 ซึ่งเป็นสารอาหารจำเป็นต่อการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงและยังช่วยให้อาการเหนื่อยล้าของคุณแม่หลังคลอดดีขึ้นได้อีกด้วย อ่านต่อ : บำรุงเลือด ป้องกันเลือดจาง ด้วยสารอาหารสำคัญ

โลหิตจาง จึงถือเป็นภาวะหลังคลอดที่คุณแม่ควรระวังและควรดูแลตนเองตั้งแต่วางแผนมีบุตรต่อเนื่องมาจนถึงช่วงหลังจากคลอดบุตร โดยการรับประทานอาหารและวิตามินบำรุงเลือดตามคำแนะนำของแพทย์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย บริหารความเครียดและตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทั้งคุณแม่และลูกน้อยมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง รวมถึงช่วยให้คุณแม่หลังคลอดสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้นอีกด้วย

อ้างอิง
  1. อัจฉรา พาณิชพงษ์พันธุ์(2566).ภาวะโลหิตจางในสตรีตั้งครรภ์ที่มาคลอดในโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี.โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี. https://nrh.nopparat.go.th/academic/public/files/ภาวะโลหิตจางในสตรีตั้งครรภ์ที่มาคลอดในโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี.pdf
  2. https://www.bpksamutprakan.com/care_blog/view/141
  3. https://www.pobpad.com/โลหิตจางกับอาหารที่ควร
  4. https://www.phyathai.com/th/article/2989-โลหิตจางขณะตั้งครรภ์_ร
อัลบั้มภาพ

ข่าวสุขภาพอื่นๆ

บำรุงร่างกายทั่วไป

ประโยชน์ของวิตามินอี

บำรุงร่างกายทั่วไป

เวย์โปรตีนสำหรับผู้ป่วย