ภูมิแพ้ฝุ่น PM 2.5 อาการเป็นๆ หายๆ ต้องดูแลตัวเองอย่างไร

ภูมิคุ้มกัน
ภูมิแพ้ฝุ่น อาการและวิธีดูแลตนเอง

ภูมิแพ้ฝุ่น PM 2.5 เป็นอีกโรค ที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน อันมีสาเหตุหนึ่งมาจากฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน โดยร่างกายจะมีปฏิกิริยาไวต่อฝุ่น PM 2.5 หรือ สารก่อภูมิแพ้ มักมีอาการแสดงทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก คัดจมูก คันจมูก คันหรือเคืองตา เป็นหวัดบ่อย รวมถึงอาการแสดงทางผิวหนัง เช่น ผื่นลมพิษเป็นๆ หายๆ ผิวแห้ง คันตามผิวหนัง เป็นต้น 

ฝุ่น PM 2.5 ก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้อย่างไร

ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นและก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้เรื้อรังได้ เนื่องจากอนุภาคของฝุ่นที่มีขนาดเล็กมากและมักมีสารประกอบจำพวกคาร์บอนที่ละลายได้ดีในน้ำมันที่จับตัวกับสารเคมีและโลหะต่างๆ แทรกซึมผ่านผิวชั้นนอกลงไปยังเซลล์ผิวหนังชั้นใน เมื่ออนุภาคของฝุ่นทำปฏิกิริยาออกซิเดชันกับผิวจึงทำให้เกิดอนุมูลอิสระ เซลล์ผิวเปลี่ยนแปลง รบกวนสมดุลต่าง ๆ ของร่างกาย และกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบซึ่งส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจส่วนบนและระบบทางเดินหายใจส่วนล่างเกิดการอักเสบ หากสูดอากาศที่ปะปนไปด้วยมลพิษหรือฝุ่น PM 2.5 เข้าไปจะทำให้ระบบทางเดินหายใจเกิดการอักเสบและเกิดอาการแพ้ ไม่ว่าจะเป็น อาการจาม มีน้ำมูก คัดจมูก ลามไปถึงโพรงไซนัสอักเสบ ภูมิแพ้โพรงจมูก รวมถึงส่งผลต่อ ปอด หลอดลม และถุงลมให้อักเสบ 

นอกจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 ยังก่อให้เกิดภูมิแพ้ผิวหนังได้ เช่น ผื่นคันแพ้ฝุ่น ผิวหนังอักเสบ และนำไปสู่โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง สำหรับผู้ที่มีโรคผิวหนังเป็นทุนเดิมอยู่แล้วอาจรู้สึกคันและมีผื่นกำเริบมากขึ้น รวมถึงยังทำให้ผิวหมองคล้ำ เกิดสิว จุดด่างดำ และริ้วรอยมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้น หากร่างกายได้รับฝุ่น PM 2.5 มากขึ้นจะทำให้เกิดอาการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้เดิมได้ไวขึ้น  และก่อให้เกิดการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้โรคภูมิแพ้โพรงจมูก โรคหอบหืด รวมถึงภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบรุนแรงขึ้นได้

ภูมิแพ้ฝุ่น PM 2.5 อาการเป็นอย่างไร

ภูมิแพ้ฝุ่น PM 2.5 มักพบบ่อยในช่วงที่อากาศมีมลพิษสูง หรือ ค่าดัชนีคุณภาพอากาศตั้งแต่ AQI 101-200 ขึ้นไป นอกจากจะส่งผลให้เกิดอาการแพ้มากขึ้นแล้ว ยังกระตุ้นให้โรคภูมิแพ้เดิมให้กำเริบมากขึ้นอีกด้วย 

1. อาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการอักเสบเฉียบพลัน 

  • มีอาการจาม น้ำมูก คัดจมูก แสบตา คันตา น้ำมูกไหล 
  • ผู้ที่เป็นหอบหืดจะรู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้นจากภาวะหลอดลมตีบ หายใจมีเสียงหวีด 
  • อาจเกิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือ ผื่นลมพิษ
  • ระคายเคืองตา ตาแดง ตาแห้ง
  • ป่วยง่าย จากการติดเชื้อไวรัส และ แบคทีเรียได้ง่ายขึ้น 

2. อาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรัง

  • โพรงไซนัสอักเสบกำเริบ มีอาการคัดแน่นจมูกมากจนทนไม่ไหว การได้กลิ่นลดลง ปวดโพรงจมูกมาก และ อาจมีมูกสีเหลืองเขียวปนออกมา 
  • ภูมิแพ้เดิมกำเริบรุนแรง ไม่ว่าจะเป็น ภูมิแพ้อากาศ ภูมิแพ้ฝุ่น ภูมิแพ้ผิวหนัง หรือ ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง
  • เกิดการอักเสบเรื้อรังในทางเดินหายใจ หรือ หอบหืดกำเริบ
  • คันผิวหนัง มีผื่นคัน
  • แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก

3. อาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 ในเด็ก

หากเด็กได้รับฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณเกินมาตรฐานมาก หรือ ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะเกิดการสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทำให้เกิดอาการ หรือ โรคต่าง ๆ ได้แก่

  • เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ
  • หายใจผิดปกติ มีอาการหอบหืด
  • ระคายเคืองในโพรงจมูก และ ทางเดินหายใจส่วนบน
  • อาการภูมิแพ้กำเริบ
  • ป่วยง่าย เกิดการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้ง่าย
  • ไอบ่อย มีเสมหะ หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจมีเสียงหวีด รู้สึกแน่นหน้าอก หากมีอาการรุนแรงให้รีบพบแพทย์ทันที
อาการ ภูมิแพ้ฝุ่น PM 2.5

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการแพ้ฝุ่น PM 2.5

หากสังเกตได้ว่าตนเองเป็นภูมิแพ้ฝุ่น PM 2.5 ควรดูแลรักษาตนเองมากขึ้นเป็นพิเศษ รวมถึงความสะอาดของบริเวณที่อยู่อาศัย รวมถึงผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้เดิม เช่น ภูมิแพ้อากาศ ภูมิแพ้ผิวหนังหรือภูมิแพ้อาหารบางชนิด อาจเริ่มมีอาการกำเริบในช่วงที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง จึงจำเป็นต้องเพิ่มการดูแลตนเอง เมื่อมีอาการภูมิแพ้ด้วย ดังนี้

  • ในช่วงที่มีมลพิษทางอากาศสูง ควรหลีกเลี่ยงการออกนอกตัวอาคาร หากจำเป็น ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยที่สามารถช่วยกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ รวมถึงสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด เพื่อป้องกันการระคายเคืองผิวหนัง
  • ใช้เครื่องกรองอากาศ หรือ เครื่องฟอกอากาศ ชนิด HEPA filter ภายในห้อง โดยปิดประตูหน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันฝุ่นเล็ดลอดเข้ามาภายในที่อยู่อาศัย
  • ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ โดยแนะนำให้ใช้เครื่องดูดฝุ่น เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น
  • ควรซักทำความสะอาดเครื่องนอน ด้วยน้ำร้อน ประมาณ 60 องซาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 30 นาที อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้งเพื่อฆ่าไรฝุ่น
  • สวนล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพื่อให้โพรงจมูกชุ่มชื้นและทำความสะอาดสิ่งสกปรกที่อาจตกค้างอยู่ในโพรงจมูก
  • กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ หากรู้สึกเจ็บคอ หรือ ไอแห้งจากการแพ้ฝุ่น PM 2.5
  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ สำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้เรื้อรัง ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เพื่อป้องกันอาการแพ้กำเริบ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงมลพิษและฝุ่น PM 2.5 เพื่อป้องกันการแพ้สารก่อภูมิแพ้ใหม่
  • หากเป็นโรคภูมิแพ้เรื้อรัง เช่น ภูมิแพ้โพรงจมูก หรือ โพรงไซนัสอักเสบ หากมีเยื่อบุโพรงจมูกบวม อาจใช้ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ต่อเนื่องไประยะหนึ่ง เพื่อลดการบวมอักเสบ คัดแน่นจมูก หรือ ปวดโพรงใบหน้า
  • ไม่ควรใช้ยาพ่นจมูกชนิดลดบวมแบบไม่ใช่สเตียรอยด์ ติดต่อเนื่องกัน นานเกิน 3-5 วัน เพราะอาจทำให้เส้นเลือดหด ส่งผลให้ผนังโพรงจมูกไม่ตอบสนองต่อยาพ่น มีอาการดื้อต่อยาหรือที่เรียกว่า ภาวะ Rhinitis Medicamentosa
  • บรรเทาอาการแพ้ด้วยยาแก้แพ้ หากอาการแพ้กำเริบ อาจใช้ยาแก้แพ้ (Antihistamines) เพื่อลดอาการคันจมูก น้ำมูกไหล หรือ ผื่นแพ้ตามตัว หรือหากมีผื่นผิวหนังอาจใช้ยาชนิดทาเพื่อลดอาการคันหรืออักเสบและรักษาตามอาการได้โดยปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • เสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย โดยเฉพาะในเด็ก หรือ ผู้ที่มีอาการภูมิแพ้เรื้อรัง เป็นๆ หายๆ แนะนำให้เลือกรับประทานโพรไบโอติกจุลินทรีย์ชนิดดี 2 สายพันธุ์เฉพาะ อย่าง Lactobacillus acidophilus NCFM และ  Bifidobacterium lactis BL-04 ที่มีงานวิจัยสนับสนุนว่าช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน เมื่อรับประทานเป็นประจำ เนื่องจากโพรไบโอติกดังกล่าวนั้น มีส่วนช่วยให้ร่างกายผลิตไซโตไคน์ (Cytokines) และ สารหลั่งประเภทโพลีเปปไทด์ (Polypeptide) ที่ผลิตจากเซลล์ ซึ่งส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system) ในร่างกาย ลดอาการอักเสบ ช่วยให้อาการภูมิแพ้ลดลง ไม่ว่าจะเป็น อาการมีน้ำมูก ผื่นคัน แพ้อาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดการเกิดโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในเด็กได้อีกด้วย

ถึงแม้ว่า อาการภูมิแพ้ฝุ่น จะเป็นๆ หายๆ หรือ เป็นภูมิแพ้เรื้อรัง การรักษาโรคภูมิแพ้นั้น สิ่งสำคัญคือการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ ปกป้องร่างกายจากฝุ่น PM 2.5 การรักษาความสะอาดของใช้ภายนอก รวมถึงเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายจากภายในให้แข็งแรง เพื่อต่อต้านกับอาการแพ้รุนแรง และลดความถี่ของอาการแพ้ ไม่ว่าจะเป็น การรับประทานโพรไบโอติก สารต้านอนุมูลอิสระ และการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโออย่างสม่ำเสมอ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยลดความถี่ของอาการของโรคภูมิแพ้เรื้อรัง แต่ยังป้องกันการแพ้สารชนิดใหม่เพิ่มด้วยนั่นเอง

อ้างอิง
  1. Bangkok hospital
  2. Phyathai Hospital
  3. ฐานข้อมูล MEGA We care

 

อัลบั้มภาพ

ข่าวสุขภาพอื่นๆ

หวัด ภูมิแพ้

ยาแก้แพ้ กับเรื่องที่ต้องรู้

หวัด ภูมิแพ้

รคภูมิแพ้แก้ได้ เรื่องง่ายๆ ที่ใครก็คิดว่ายาก

ภูมิคุ้มกัน

หลักการกินสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาโรคโควิด-19 และโรคหวัด