Search

แมกนีเซียม Magnesium แร่ธาตุสำคัญที่จำเป็นสำหรับร่างกาย

ไมเกรน
แมกนีเซียม Magnesium

แมกนีเซียม (Magnesium) คือ แร่ธาตุที่สำคัญและจำเป็นของร่างกายมนุษย์ สามารถพบได้ในทุกเซลล์ของร่างกาย แต่บริเวณที่พบมากก็คือที่กระดูก ในเซลล์กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อ ดังนั้นแมกนีเซียมจึงถือเป็นแร่ธาตุจำเป็นที่ร่างกายขาดไม่ได้ ซึ่งมีประโยชน์และบทบาทต่อการทำงานของเอ็นไซม์ในร่างกายมากกว่า 300 ชนิด จึงมีความสาคัญยิ่งต่อการทำงานของเอ็นไซม์ในกระบวนการเผาผลาญทุกอย่าง ซึ่งรวมถึงการสร้างสาร DNA RNA โปรตีน การสร้างและเก็บพลังงานในเซลล์ กระบวนการย่อยสลายกลูโคส และยังมีบทบาทในการรักษาระดับของสารอิเล็กโตรไลท์ภายในเซลล์ ซึ่งส่งผลต่อการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้ออีกด้วย

ดังนั้นถ้าร่างกายของคนเราขาดแร่ธาตุแมกนีเซียม หรือมีปริมาณแมกนีเซียมในร่างกายต่ำจะส่งผลเสียมากมาย เช่น ปวดศีรษะไมเกรน อ่อนเพลีย ร่างกายเหนื่อยตลอดเวลา กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อชา เป็นตะคริวได้ง่าย กล้ามเนื้อหดเกร็งแบบผิดปกติ คุณภาพการนอนหลับต่ำ อารมณ์ไม่ปกติ เสี่ยงทำให้เกิดโรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้าได้ อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ ความดันโลหิตสูง และเกิดภาวะกระดูกพรุน เป็นต้น

คลิกหัวข้อที่น่าสนใจ

    แมกนีเซียม (Magnesium) ให้ประโยชน์อะไรกับร่างกาย?

    แมกนีเซียม (Magnesium) คืออีกหนึ่งแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ และให้ประโยชน์มากมายกับร่างกายดังต่อไปนี้

    • เป็นตัวช่วยควบคุมสมดุลแคลเซียมในกระดูกและในเลือด และป้องกันไม่ให้แคลเซียมเกาะตามเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆ
    • เป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างกระดูกในร่างกาย และมีผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน
    • ช่วยให้การทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการส่งสัญญาณประสาท
    • มีส่วนช่วยป้องกัน และบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน
    • สามารถช่วยกระตุ้นวิตามิน บี ซี และ อี ให้ทำงานได้ดีขึ้น
    • ช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและหลอดเลือด
    • ช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ จึงทำให้ช่วยลดโอกาสในการเกิดตะคริวได้

    ร่างกายจะเป็นอย่างไรหากขาดแมกนีเซียม (Magnesium)?


    เนื่องจากมีผู้ที่ยังไม่รู้มองข้ามประโยชน์และความจำเป็นที่ร่างกายต้องมีแร่ธาตุแมกนีเซียมอย่างเพียงพอ จึงมีคนจำนวนไม่น้อยเกิดความผิดปกติกับร่างกายอันเนื่องมาจากสาเหตุการขาดแร่ธาตุแมกนีเซียม ซึ่งส่งผลเสียกับระบบการทำงานภายในร่างกาย

    • โดยเฉพาะระบบประสาท และกล้ามเนื้อ การทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง ค้าง และเป็นตะคริวบ่อย
    • เมื่อเกิดอาการปวดหัวไมเกรนจะมีความรุนแรง และมีโอกาสปวดได้ถี่ยิ่งขึ้น
    • ภูมิคุ้มกันจะลดต่ำลง
    • เสี่ยงกับกระดูกพรุน หรือเปราะ กระดูกอ่อนไม่แข็งแรง เหมือนกับการขาดแคลเซียม ซึ่งแพทย์พบว่าหากใครที่มีปริมาณแมกนีเซียมในร่างกายที่ต่ำ ก็มีโอกาสที่แคลเซียมในร่างกายต่ำลงไปด้วย
    โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร่างกายมีปริมาณแมกนีเซียมลดลง และกลายเป็นภาวะขาดแร่ธาตุชนิดนี้ซึ่งควรต้องระวังก็คือ การรับประทานอาหารจำพวกแป้งที่ผ่านการขัดสีเป็นประจำ รวมทั้งอาหารที่มีไขมันสูง การดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ และอาจรวมถึงผู้ที่รับประทานยาในบางประเภท เช่น ยาขับปัสสาวะ
    
    

    แมกนีเซียม (Magnesium) สำคัญกับคนทำงานในยุคปัจจุบันอย่างไร?


    ในปัจจุบันนี้ปัญหาสุขภาพที่ถือว่าคุกคามสุขภาพของคนทำงานมากที่สุดโรคหนึ่งนอกเหนือจากความเครียดก็คือ ปวดหัวไมเกรน ซึ่งอาการปวดหัวชนิดนี้สร้างความทุกข์ทรมาน และส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันทำได้ยากขึ้น
    สาเหตุการเกิดอาการปวดหัวไมเกรน มักเกิดจากปัจจัยกระตุ้น (Trigger factors) ซึ่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน เช่น อากาศร้อน กลิ่นที่รุนแรง ควันบุหรี่ อาหารบางประเภท เช่น ช็อกโกแลต ยาบางชนิด เช่น ฮอร์โมนคุมกำเนิด แสงสว่างที่มากเกินไป การนอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งการรักษาไมเกรนในเบื้องต้นก็คือการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น แต่บ่อยครั้งเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นเหล่านี้ได้ เนื่องจากหน้าที่การงานที่บังคับให้ต้องสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา

    แร่ธาตุแมกนีเซียม (Magnesium) สัมพันธ์กับอาการปวดหัวไมเกรนได้อย่างไร?

    จากการวิจัยบางชิ้นในต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีปวดหัวไมเกรนจะมีระดับแมกนีเซียมในร่างกายที่ต่ำกว่าคนปกติ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าการบริโภคแมกนีเซียมเป็นประจำมีส่วนช่วยลดความถี่ในการเกิดไมเกรนได้ถึง 41.6%
    นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการรับประทานแมกนีเซียมในปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย คือ 300-600 มิลลิกรัม สามารถช่วยป้องกันการเกิดไมเกรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังสามารถลดความถี่ของการปวดหัวไมเกรนลงได้ ซึ่งเท่ากับว่าจะช่วยลดปริมาณการใช้ยาแก้ปวดไมเกรนแบบไม่จำเป็นได้
    อ่านต่อ : ปวดหัว ไมเกรน อาการและวิธีรักษา

    บทบาทของแมกนีเซียม (Magnesium) กับนักกีฬาสำคัญอย่างไร?

    หลายคนอาจจะยังไม่เคยทราบมาก่อนว่าแร่ธาตุแมกนีเซียมถือเป็นสิ่งที่นักกีฬาทั้งมืออาชีพและสมัครเล่น รวมถึงผู้ที่ออกกำลังเป็นประจำจะต้องมีในร่างกายอย่างเพียงพอและจะขาดไม่ได้ เพราะสาเหตุของอาการบาดเจ็บของนักกีฬาที่มาจากการฝึกซ้อม หรือการแข่งขันจำนวนไม่น้อยเกิดจากการเป็นตะคริว!! และแร่ธาตุชนิดนี้ก็สามารถช่วยป้องกันการเกิดตะคริวได้ เพราะแมกนีเซียมจะช่วยลดการหดเกร็ง
    ของกล้ามเนื้อและหลอดเลือดได้

    ตะคริว (Muscle Cramp) คือ สภาวะการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ โดยไม่ได้ตั้งใจ ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทรมาน ถึงแม้จะไม่ส่งผลอันตรายร้ายแรง แต่หากเกิดขึ้นระหว่างขับรถหรือว่ายน้ำ อาจเสี่ยงก่อให้เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ สาเหตุของการเกิดตะคริวมีปัจจัยต่างๆ เช่น
    – เกิดจากการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ
    – ร่างกายพบกับการเปลี่ยนแปลง ของอุณหภูมิ ที่แตกต่างกันมากอย่าง รวดเร็ว
    – ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ เพราะเสีย เหงื่อมาก ระดับเกลือแร่ในร่างกายต่ำ
    – จากภาวะของการตั้งครรภ์
    – จากอาการป่วยของโรคไตและไทรอยด์

    อาการตะคริวของนักกีฬา เกิดจากกล้ามเนื้อหดเกร็งอย่างรุนแรง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับกล้ามเนื้อทุกมัด แต่ส่วนใหญ่ในนักกีฬา รวมไปถึงผู้ออกกำลังกาย มักพบที่กล้ามเนื้อน่อง ขา แสดงอาการมักนานไม่เกิน 2 นาที แต่ในบางรายอาจนานถึง 5 นาทีหรือมากกว่านั้นก็เป็นได้
    อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นอาการของการเกิดตะคริวอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ร้ายแรง แต่ก็สามารถกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้เช่น เมื่อเกิดเป็นตะคริวระหว่างการว่ายน้ำก็มักเป็นสาเหตุของการจมน้ำเสียชีวิตได้ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ เช่น การขับรถ หากเกิดตะคริวระหว่างทางก็อาจกลายเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุได้เช่นกัน

    จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า แมกนีเซียม (Magnesium) คืออีกหนึ่งแร่ธาตุที่สำคัญและจำเป็นสำหรับร่างกายของคนเราไม่แพ้สารอาหารชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันและบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน และอาการตะคริว ดังนั้นวิธีที่จะช่วยให้ร่างกายของเราไม่ขาดแร่ธาตุสำคัญนี้ สิ่งแรกที่สามารถทำได้ก็คือ การรับประทานอาการที่เป็นประโยชน์มีแร่ธาตุแมนีเซียมสูง เช่น กล้วยหอม, ถั่ว, ช็อคโกแลต, อะโวคาโด,เมล็ดแฟล็ดซีด, อัลมอนด์, ผักโขม, โยเกิร์ต รวมถึงเมล็ดธัญพืชให้เพียงพอต่อความต้องการ

    แต่หากไม่แน่ใจว่าอาหารในแต่ละมื้อที่รับประทานเข้าไปจะมีแมกนีเซียมเพียงพอหรือไม่ก็สามารถได้รับจากอาหารเสริมแมกนีเซียมได้ แต่ก่อนที่จะใช้ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัย … ด้วยความปรารถนาดีจาก MEGA We care
    อ้างอิง

    1. www.healthline.com/nutrition/10-proven-magnesium-benefits#TOC_TITLE_HDR_2

    2. www.medicalnewstoday.com/articles/286839

    3. www.healthline.com/health/magnesium-for-leg-cramps#why-try

    4. www.webmd.com/migraines-headaches/migraines-headaches-migraines

    5. www.goldenlifehome.com/2015

    อัลบั้มภาพ

    ข่าวสุขภาพอื่นๆ

    ภาวะนอนไม่หลับ

    อยากนอน แต่นอนไม่หลับ

    ภาวะนอนไม่หลับ

    การนอนไม่หลับ ปัญหาสุขภาพวัยสูงอายุ

    บำรุงสมองเสริมความจำ

    ใบแปะก๊วยกับคุณประโยชน์ทางการแพทย์