เมาค้าง หรือที่เรียกกันว่าอาการ แฮงก์ (Hangover) ถือเป็นประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นหลังจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็น อาการคลื่นไส้อยากอาเจียน ปวดหัว กระหายน้ำ รับประทานอาหารตามปกติไม่ได้ ฯลฯ ถึงแม้ว่าปกติแล้วอาการเหล่านี้มักจะหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง แต่อาการเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราได้และทำให้วันรุ่งขึ้นหลังจากการดื่มกลายเป็นช่วงเวลาที่ทรมานอยู่พอสมควร
สาเหตุของอาการ เมาค้าง (Hangover) เกิดจากอะไร
เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเพิ่มขึ้นและเกิดอาการมึนเมาตามมา แต่เมื่อระดับแอลกอฮอล์ในเลือดลดลง อาจส่งผลให้เกิดอาการเมาค้างขึ้น โดยอาการเมาค้างมักเกิดขึ้นในตอนเช้าหลังการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในตอนกลางคืน ซึ่งเกิดจากกลไกหลักๆ ดังนี้
- การขาดน้ำ (Dehydration) เนื่องจากร่างกายผลิตน้ำปัสสาวะมากขึ้นหลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงส่งผลให้ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ อีกทั้งยังทำให้ร่างกายขาดน้ำและแร่ธาตุสำคัญออกไป เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม รวมไปถึงวิตามินต่างๆ อีกหลายชนิด เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 ฯลฯ จึงทำให้มีอาการเมาค้างในวันรุ่งขึ้น รวมทั้งอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปวดหัว กระหายน้ำ ปากแห้งคอแห้ง เป็นต้น
- สารพิษอะซีตัลดีไฮด์ (Acetaldehyde) หลังจากดื่มแอลกอฮอล์ร่างกายจะมีกระบวนการย่อยสลายแอลกอฮอล์ โดยตับจะสร้างเอนไซม์ออกมาและเปลี่ยนแอลกอฮอล์เป็นสารอะเซ็ตทัลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารที่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ นอกจากจะตกค้างอยู่ในร่างกายได้หลายชั่วโมงภายหลังจากหยุดดื่มแล้ว ยังส่งผลต่อเซลล์สมองและเกิดอาการการแฮงก์หรืออาการเมาค้างตามมาในที่สุด
- ร่างกายเกิดการอักเสบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายผลิตสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น ไซโตไคน์ (Cytokines) ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดหัว คลื่นไส้ และอาการไม่พึงประสงค์หลังการดื่มอย่างอาการเมาค้าง เฉื่อยชา มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ หรือความอยากอาหารลดลง เป็นต้น
- การระคายเคืองผนังกระเพาะอาหาร โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์อาจกระตุ้นการสร้างกรดในกระเพาะอาหารให้เพิ่มขึ้นและย่อยยาก จึงอาจส่งผลให้มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน
- น้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย หิว มือสั่น หงุดหงิด นอนหลับไม่สนิท ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าได้
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการเมาค้างมากขึ้น เช่น การดื่มขณะท้องว่างจะทำให้ร่างกายดูดซึมแอลกอฮอล์เร็วขึ้นและเพิ่มโอกาสเกิดอาการเมาค้าง รวมไปถึงปัจจัยทางร่างกายที่ในบางคนอาจมีเอนไซม์ที่ย่อยสลายแอลกอฮอล์ได้ไม่ดี ทำให้เกิดอาการเมาค้างได้ง่ายกว่าคนอื่น ตลอดจนผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจมีอาการเมาค้างที่รุนแรงกว่าคนทั่วไป
อาการเมาค้าง ที่พบบ่อย
เมาค้าง เป็นอาการที่ร่างกายขาดน้ำหลังจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเสียสมดุลจนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาท และสารทางชีวภาพอื่นๆ ในร่างกาย โดยอาการทั่วไปที่พบได้บ่อย เช่น
- อาการปวดหัว มึนหัว ถือเป็นอาการเมาค้างที่พบได้บ่อยที่สุด มักรู้สึกปวดตุบๆ หรือบีบรัดบริเวณขมับหรือทั่วศีรษะ ยิ่งขยับหรือเคลื่อนไหวร่างกายจะทวีความปวดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมักเกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดในสมอง (Vasodilation) การขาดน้ำ และผลของสารพิษที่เกิดจากการย่อยสลายแอลกอฮอล์
- คลื่นไส้และอาเจียน เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะอาหาร นอีกทั้งสารพิษจากการย่อยสลายแอลกอฮอล์ เช่น อะซีตัลดีไฮด์ (Acetaldehyde) ยังเข้าไปกระตุ้นศูนย์อาเจียนในสมอง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนได้
- อาการเหนื่อยล้าและอ่อนเพลีย คนที่มีอาการเมาค้างมักรู้สึกเหนื่อยล้าและไม่มีแรง ซึ่งเกิดจากการนอนหลับไม่สนิท ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือกระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย
- อาการกระหายน้ำมาก ปากแห้ง คอแห้ง จากการที่ร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าปกติ
- อาการใจสั่น ในบางคนอาจมีอาการใจสั่นหรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติในช่วงที่เมาค้าง จากการที่ร่างกายพยายามชดเชยภาวะขาดน้ำและการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในร่างกาย
- อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ตะคริว มือสั่น ไวต่อแสงและเสียงมากกว่าปกติ อาจเป็นผลมาจากการอักเสบที่เกิดขึ้นทั่วร่างกายและการขาดแร่ธาตุสำคัญ เช่น แมกนีเซียม หรือโพแทสเซียม ที่มีบทบาทสำคัญในการทำงานของกล้ามเนื้อ
- ชีพจรเต้นเร็ว หากเกิดอาการเมาค้างที่รุนแรงอาจเป็นสัญญาณของภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ หากพบอาการร่วม เช่น สับสนมึนงง อาเจียน การหายใจผิดปกติ ชัก ตัวเขียวหรือผิวซีด อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน
แก้เมาค้าง รับประทานอะไรดี?
การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ รวมถึงดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอจะช่วย แก้เมาค้าง ให้หายเร็วขึ้นได้
1. ดื่มน้ำเปล่าและเครื่องดื่มที่ช่วยฟื้นฟูร่างกาย
การดื่มน้ำเปล่าเป็นวิธีแรกที่ควรทำเมื่อมี อาการเมาค้าง เพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำ โดยดื่มน้ำอย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน และพยายามจิบบ่อยๆ เพื่อให้ร่างกายค่อยๆ ดูดซึมน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังสามารถดื่มเครื่องดื่มที่มีอิเล็กโทรไลต์ เช่น น้ำมะพร้าวที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียมและน้ำตาล น้ำเกลือแร่หรือเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา เพื่อช่วยทดแทนแร่ธาตุที่สูญเสียไปจากการขับปัสสาวะมากผิดปกติและช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกายที่อ่อนแรงจากอาการเมาค้าง
2. รับประทานอาหารที่ช่วยบรรเทาอาการเมาค้าง
- อาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หรือถั่วต่างๆ ที่อุดมไปด้วยซิสเทอีน (Cysteine) ที่ช่วยให้ร่างกายได้รับกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการฟื้นบำรุงตับและกระบวนการกำจัดสารพิษ นอกจากนี้ยังช่วยย่อยสลายอะซีตัลดีไฮด์ซึ่งเป็นสารพิษที่เกิดจากการย่อยสลายแอลกอฮอล์ได้อีกด้วย
- อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ขนมปังโฮลวีต ข้าวกล้อง หรือธัญพืชต่างๆ ช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดอย่างช้าๆ และคงที่ ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานอย่างต่อเนื่อง และลดอาการอ่อนเพลียที่เกิดจากอาการเมาค้าง
- ซุปหรือน้ำแกง ซุปร้อนๆ โดยเฉพาะซุปที่มีส่วนผสมของผักและเนื้อสัตว์ ช่วยให้ร่างกายได้รับทั้งของเหลวและสารอาหารที่จำเป็น นอกจากนี้ ซุปยังช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้และอุ่นร่างกายได้ดี
- ผลไม้สด ผลไม้ที่มีน้ำมากและอุดมไปด้วยวิตามิน เช่น กล้วย ส้ม แคนตาลูป และแตงโม ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ร่างกายและให้พลังงานจากน้ำตาลธรรมชาติ กล้วยโดยเฉพาะมีโพแทสเซียมสูงซึ่งช่วยแก้ไขการขาดสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายได้
- น้ำผึ้ง มีน้ำตาลฟรุกโตสที่ร่างกายสามารถใช้เป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดการอักเสบและต้านผลกระทบจากสารพิษที่เกิดจากการย่อยสลายแอลกอฮอล์ได้
3. รับประทานวิตามินบี
วิตามินบี (Vitamin B) เป็นอีกเคล็ดลับที่หลายคนยังไม่รู้ว่าช่วยแก้อาการเมาค้างได้ โดยวิตามินบีนั้นมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูการเผาผลาญแอลกอฮอล์และลดระดับสารอะซีทัลดีไฮด์ (Acetaldehyde) โดยเฉพาะวิตามินบี 1 (Thiamine) และวิตามินบี 6 (Pyridoxine) ซึ่งการรับประทานวิตามินบีจะช่วยให้ตับทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ วิตามินบี 1, บี 3 (Niacin) และบี 12 (Cobalamin) ยังมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาท ช่วยลดอาการปวดศีรษะและความอ่อนล้า ผู้เชี่ยวชาญจึงมักแนะนำให้รับประทานวิตามินบีรวม (B-Complex) ก่อนดื่มและหลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยรับประทานพร้อมอาหารและดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากอาการเมาค้างได้เร็วขึ้น

วิธีแก้อาการ ‘เมาค้าง’ ให้หายเร็วขึ้น
ถึงแม้ว่าอาการแฮงก์หรือเมาค้าง จะหายไปเองภายใน 24-72 ชั่วโมง แต่มักมีอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงในช่วง 12-24 ชั่วโมงหลังการดื่ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการชีวิตประจำวันอย่างมาก จึงอาจจำเป็นต้องพักผ่อนให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายวิธีที่จะช่วยบรรเทาอาการและทำให้รู้สึกดีขึ้นได้เร็วขึ้น
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการให้เวลาร่างกายฟื้นตัวจาก อาการเมาค้าง แอลกอฮอล์รบกวนคุณภาพการนอนหลับ ดังนั้นการนอนเพิ่มเติมจะช่วยให้ร่างกายมีเวลาในการกำจัดสารพิษและฟื้นฟูระบบต่างๆ โดยอาการเมาค้างอาจหายไปเมื่อตื่นขึ้นมา
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสมัน เพราะส่งผลต่อการย่อยอาหาร ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้มากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ถึงแม้ว่าจะช่วยให้ร่างกายตื่นตัวมากขึ้น แต่คาเฟอีนอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำเพิ่มมากขึ้นและอาจทำให้เพลียมากกว่าเดิมเมื่อหมดฤทธิ์กาแฟ
- หากรู้สึกปวดหัวมาก สามารถรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้ เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยาแอสไพริน แต่ควรหลีกเลี่ยงยาพาราเซตามอล เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตับได้
สำหรับใครที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วมีอาการเมาค้างเป็นประจำ สิ่งสำคัญคือการลดปริมาณและความถี่จากการดื่มแอลกอฮอล์ลง อย่างไรก็ตามเมื่อมีอาการแฮงก์หลังการดื่ม สามารถฟื้นฟูร่างกายได้ตามวิธีที่แนะนำข้างต้น หากต้องการรับประทานยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อแก้เมาค้าง สามารถปรึกษาเภสัชกรเพื่อแนะนำการรับประทานที่เหมาะสม